"ชาญศิลป์" เร่งแผนฟื้นฟู “การบินไทย” หวังเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปี 67
“ชาญศิลป์” ระบุ “การบินไทย” ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว เร่งเดินตามแผนฟื้นฟู พร้อมบินทะยานอีกครั้ง ปั้นรายได้เฉลี่ยเดือนละ 12,000 ล้านบาท ชี้อุตสาหกรรมการบินหนุนเศรษฐกิจไทย มองการเติบโตปี 2566 ไปได้สวย แนะผู้นำประเทศร่วมมือร่วมใจ มุ่งเป้ากลับสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ปลายปี 2567
“เครือมติชน” จัดเสวนาวาระก้าวสู่ปีที่ 46 ในหัวข้อ “Thailand : New Episode บทใหม่ประเทศไทย 2023” โดยนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “Speed up การบินไทย-ท่องเที่ยวไทย” ถึงแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในการฟื้นตัวเศรษฐกิจว่า อุตสาหกรรมหลังโควิด-19 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบินถือว่าเปราะบางมาก
ทั้งนี้ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ อาทิ เหตุวินาศกรรมไนน์วันวัน กระทบสายการบินทั่วโลกถึง 4 ปี ต่อมาวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ การบินไทยติดลบต่ออีก 2 ปี และหลังจากนั้นก็เติบโตมาเรื่อยๆ ส่งผลให้อีบิทด้ามาร์จิ้นเกือบ 10% ในบางปี แต่ก็ยังมีผลกระทบมาอยู่เรื่อยๆ ในอุตสาหกรรมการบินอยู่ที่ว่าจะปรับตัวอย่างไร
“ช่วงโควิด-19 เป็นช่วงที่ธุรกิจการบินขาดทุนสูงสุดในรอบ 100 ปีตั้งแต่มีธุรกิจการบิน ประมาณเกือบ 4 ล้านล้านบาท ทั้งโลกหยุดหมดทั้งธุรกิจแอร์พอร์ต การสร้างเครื่องบิน ซ่อมเครื่องบิน อาหาร และแรงงานต่างๆ สายการบินหลายสายในโลกต้องปิดตัว ล้มละลาย ซึ่งการบินไทยก็ต้องฟื้นฟู เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าแม้จะติดลบลงเรื่อยๆ”
อย่างไรก็ตาม ตนอยู่การบินไทยมา 3 ปี ซึ่งวิกฤติการบินไทยในช่วงโควิด-19 ปี 2563 หลายประเทศปิดการเข้าออก และหากจะเข้าประเทศต้องตรวจสอบเข้มงวดต่อมาปี 2564 ประเทศไทยเริ่มมีวัคซีน และเปิดประเทศมากขึ้น ส่งผลให้การบินไทยเริ่มเปิดสายการบินและดีขึ้นในช่วงครึ่งปี 2565 และเริ่มกลับมาดีขึ้น โดยประเทศที่เปิด และไทยพยายามเน้นก่อนคือ อินเดีย เพราะจีนมี Zero COVID และเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ เศรษฐกิจยังไม่ลงตัว ประชากร 1,400 ล้านคน การต่อพาสปอร์ต หรือทำอะไรต่างๆ เพื่อการเดินทางไม่ง่าย ดังนั้น ในยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย เกิดก่อนจีน
ทั้งนี้ ไออาต้าได้ประมาณการว่ายุโรป อเมริกา จะสามารถบริหารจัดการได้ปี 2567 จะกลับมา เพราะมีการเดินทางระหว่างกัน เป็นประเทศเสรี สามารถที่จะฉีดวัคซีนได้เร็ว ส่วนเอเชีย-แปซิฟิกจะเติบโตปี 2568-2569 เพราะมีประเทศเยอะมาก ยกเว้น จีน อินโดนีเซีย และอินเดีย ซึ่งขนาดและความทันสมัยของประเทศยังไม่สามารถไปเร็ว การบินในประเทศไม่เยอะ เช่นเดียวกันกับการฟอร์แคชจะลงจากปกติ 6-10% ส่วนการทดสอบไฮโดรเจนกับเครื่องยนต์การบินจะเข้ามาแต่ต้องใช้เวลา
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจของการบินไทยตามวิสัยทัศน์ของรัฐบาล ต้องการให้การบินไทยเข้าไปสู่กระบวนการฟื้นฟูวันที่ 27 พ.ย. 2563 ในเวลานั้น ซึ่งเรามีการยื่นแผน ขอแก้ไขแผนที่ใช้ปัจจุบันคือ 20 ต.ค.2565 ที่ผ่านมาแผนปัจจุบันเป็นแผนที่ดีมากทำให้การบินไทยจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง คือ 1. เจรจาแฮร์คัทหนี้ 2. แปลงหนี้เป็นทุน รัฐบาลจะแปลงหนี้เป็นทุน100% โดยเอกชนจะแปลงหนี้เป็นทุน 20% ต่อไปปี 2566-2568 การบินไทยจะมีสัดส่วนทางการเงินที่ดี และมีทุนเป็นบวก และน่าจะกลับมาขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ปลายปี 2567 หรือต้นปี 2568
“สิ่งที่ทำในช่วงฟื้นฟูคือ เราไม่มีเงิน ลำบากมาก ไม่มีใครให้กู้ เราเก็บเงินไว้จนกระทั่งมีต่ำสุดที่ 4-5 พันล้าน ซึ่งใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2-3 เดือน คนทำธุรกิจก็จะเข้าไทยว่าเงินสดเป็นพระเจ้าในช่วงที่มีปัญหา สิ่งที่ทำคือ ทำทุกวิถีทาง ทั้งพนักงาน และผู้บริหารร่วมมือกันปรับโครงสร้างองค์กร เอาที่ปรึกษาระดับโลกมาช่วยดูเพื่อเทียบกับระดับโลกว่า Professional สายการบินระดับโลกเป็นยังไงโครงสร้างองค์กรจะเป็นยังไง”
ทั้งนี้ การบินไทยได้ปรับวิธีทำงานคือ 1. เพิ่มหน่วยงานด้าน Digital ขึ้น ลดขนาดองค์กรจาก 8 เลเยอร์ เหลือ 5 เลเยอร์ เพิ่มสแปนออฟคอนโทรลเข้าไป 2. ฝูงบิน การบินไทยมีรัฐถือหุ้นมาก แต่ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นการบริหารงานแบบเอกชน ดังนั้น การซื้อเครื่องบินจะต้องดูตลาด ดู Network ความคุ้มค่า ที่ผ่านมาได้เจรจาลดค่าเช่าเครื่องบิน จากปัญหา Over Supply เครื่องบินออกจากระบบทั่วโลกอย่างน้อย 500-600 ลำ และจอดจำนวนมาก จึงขอจ่ายตามใช้จริง ผู้ให้เช่าไม่มีทางออกยอมลด 30-50% มากกว่า 50 สัญญา
3. จำหน่ายสินทรัพย์ออก โดยสินทรัพย์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และเก็บไว้นานโดยเฉพาะเครื่องบินหลายลำที่จอดเป็นสิบสิบปี 4. ปรับปรุงระบบดิจิทัล แม้ว่าเรื่องดิจิทัลจะต้องใช้เงิน ก็ต้องทำโดยหาเงินลงทุนทำในเรื่องของ Digital Marketing การจองตั๋ว Call Center จึงค่อยๆ ดีขึ้น แม้ว่าจะสู้สายการบินอื่นยังไม่ได้ การบินไทยจึงต้องพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ การบินไทยได้เริ่มมีรายได้จากรายได้อื่นๆ ที่ 9,274 ล้านบาท สามารถลดลงจำนวนชั้น อัปสกิล รีสกิล และมัลติสกิลมากขึ้น ด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร และขนาดองค์กรเพื่อความคล่องตัวในการแข่งขัน โดยเสียงของทุกคนในธุรกิจเป็นลูกค้าถือเป็นเสียงที่ดีสร้างสรรค์ และยอมรับหมดในการปรับปรุง
ทั้งนี้ ช่วงที่ตนเข้าไปทำงานการบินไทยมีบุคลากร 24,500 คน ปัจจุบันเหลือ 15,000 คน ตามโครงสร้างธุรกิจ ดังนั้น จากปรัชญาในทุกวิกฤติมีโอกาสเสมอ การบินไทยขาดทุน 9 ปีติด กำไรสะสมและทุนติดลบ เมื่อโควิดมา ทุกคนเจ็บตัว การบินไทยแปลงวิกฤติเป็นโอกาส ใน 3 ปี กลับมา โดย transformation หน่วยงาน จากการที่คนการบินไทยเก่ง เสียสละ ยอมลดเงินเดือน วันนี้เป็นเดือนแรกที่ลูกเรือได้รับเงินเดือนเต็ม
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า คาดว่าปี 2566 การบินไทยจะได้ Economic Value ที่เป็นเงินสด 56,000 ล้านบาท โดยจากช่วงโควิดรายได้ต่ำสุดเดือนละ 283 ล้านบาท ผู้โดยสารเกือบเป็นศูนย์ คาร์โก้ได้เดือนละ 100 กว่าล้านบาท ซึ่งปกติต้องยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 12,000-13,000 พันล้านบาท เมื่อการขนส่งทางเรือมีปัญหาหมด จึงทำคาร์โก้ส่งผลให้รายได้กลับเข้ามาเป็น 2,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน การขนส่งทางเรือกลับมาคาร์โก้ลดลง ซึ่งผู้โดยสารเริ่มกลับมาด้วย ส่งผลให้รายได้ผู้โดยสารปรับขึ้นโดยเดือนธ.ค.2565 ทำรายได้ที่เดือนละ 13,000 ล้านบาท การบินไทยต้องการรายได้เฉลี่ยเดือนละ 12,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะดีกว่าปี 2565 แน่นอน ถ้าไม่มีปัจจัยทางการเมืองในประเทศไทย จึงอยากให้ผู้นำร่วมมือกัน
“วันนี้เรายังไม่ได้กู้เงิน แต่เรามีเงินใช้ไปถึงปีหน้าและปีต่อไปแล้ว หากเราแปลงนี้เป็นทุน และปรับโครงสร้างหนี้ได้ เราจะรอด ต้องขออภัยผู้โดยสารทุกคนที่บางครั้งเครื่องบินอาจจะดีเลย์ กระเป๋าช้า อาหารอาจจะไม่อร่อยในช่วงแรก เพราะ supply chain มีปัญหา ราคาน้ำมันก็เป็นปัญหา โดยช่วงที่ตนเป็น CEO ปตท. ราคาอยู่ที่ 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล วันนี้ลงมาจากร้อยกว่าดอลลาร์ลงมา 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก็ยังไม่ถูก จริงๆ แล้วคอร์สของการผลิตน้ำมันต้องอยู่ที่ 4-50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่วันนี้มีค่าขนส่งถือเป็นความท้าทาย”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการบินไทยยอดผู้โดยการเฉลี่ยทั้งใน และต่างประเทศวันละ 30,000 คน 100 กว่าเที่ยว วันนี้ประเทศเกิดการแข่งขันเหมือนพลังงาน การบินไทยมีคู่แข่งระดับโลกหลายทวีป จึงต้องทำงาน 24 ชั่วโมงใน 7 วัน คนการบินไทยต้องพร้อมที่จะแข่งขันปรับตัว ต้องสู้กับสายการบินระดับโลก เพราะการบินไทยมีผลต่อเศรษฐกิจ เมื่อการท่องเที่ยวกลับมา การจ้างงานเข้ามา GDP ที่มาจากท่องเที่ยวต่างชาติ 12%
“เราต้องทำตามแผนเพื่อหาเงินใหม่เพื่อค้ำจุนการจ่ายหนี้ 13,000 ราย กว่าแสนล้านบาท เราจึงต้องทำ 3 ข้อหลักคือ 1. จดทะเบียนเพิ่มทุนให้แล้วเสร็จ 2. ไม่มีเหตุผิดนัดเจ้าหนี้ 3. ต้องมีกำไรก่อนหลังจากหักค่าเช่าอย่างน้อย 12 เดือน 20,000 ล้านบาท 4. ตั้งกรรมการใหม่ดังนั้น โควิดที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์ว่าเราผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเราได้โอกาสขึ้นมาบินทะยานอีกครั้ง”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์