10 สาระสำคัญ พ.ร.ก.ป้องกัน ‘บัญชีม้า’ รัฐงัดไม้แข็งสกัดภัย ‘โกงออนไลน์’

10 สาระสำคัญ พ.ร.ก.ป้องกัน ‘บัญชีม้า’  รัฐงัดไม้แข็งสกัดภัย ‘โกงออนไลน์’

สาระสำคัญ พ.ร.ก.ฉบับใหม่สกัดภัยโกงออนไลน์ มุ่งปิดต้นตอข้อต่อมิจฉาชีพกับเหยื่อลงโทษหนักผู้เปิดบัญชีม้า ปรับสูงสุด 5 แสนบาท จำคุก 2 - 3 ปี ให้อำนาจสถาบันการเงินระงับธุรกรรมที่น่าสงสัยไว้ก่อน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ และเข้าถึงข้อมูลที่น่าสงสัยได้เพื่อตรวจสอบ

ภัยออนไลน์ ที่มาในรูปแบบของ คอลเซนเตอร์ การหลอกให้กดลิงก์ต่างๆเพื่อขโมยเงินจากบัญชีธนาคารถือเป็น อาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่ร้ายแรงมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากและเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ  ข้อมูลจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่าจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม - 31 ตุลาคม ปีที่ผ่านมา มีจำนวนคดีออนไลน์กว่า 114,000 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 22,000 ล้านบาท เฉลี่ย 800 คดีต่อวัน หรือชั่วโมงละ 33 คดี และมีแนวโน้มที่การกระทำความผิดดังกล่าวจะขยายตัวและแพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็ว โดยส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการกระทำความผิดได้สำเร็จคือการมีการเปิดบัญชีเพื่อผ่องถ่ายเงินจากผู้เสียหายไปยังมิจฉาชีพซึ่งเรียกว่า “บัญชีม้า” จึงต้องมีการแก้ไขช่องโหว่ในส่วนนี้เป็นการเร่งด่วน 

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมาเพิ่งจะมีการเห็นชอบในหลักการให้มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ... ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาขญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองประชาชนที่สุจริตซึ่งถูกหลอกลวงให้โอนเงินโดยผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงโทษผู้ที่เปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋า เงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา โดยกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการนำไปรับฟังความคิดเห็นก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวมประเด็นสำคัญของ ร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ใน 10 ประเด็นสำคัญดังนี้ 

1. ร่างพ.ร.ก.ที่กระทรวง DES เสนอป็นการดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อ18 ตุลาคม 2565 โดยกระทรวงฯพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันมีการหลอกลวงให้ประชาชนโอนเงินโดยผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีผู้ที่ทำการเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญาจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เกิดจากการหลอกลวงหรือฉ้อโกงประชาชนให้มีการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือโอนเงินให้แก่ผู้กระทำความผิด  มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากและเกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก 

เมื่อผู้กระทำความผิดได้รับเงินจากผู้เสียหายแล้วก็จะมีการโอนเงินของผู้เสียหายต่อไปยังบัญชีอื่นซึ่งเป็นของผู้ร่วมขบวนการด้วยกันต่อไปเป็นทอด ๆ อย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า “บัญชีม้า” 

 

2. การแก้ปัญหาสมควรกำหนดมาตรการทางกฎหมายที่กำหนดเป็นการเฉพาะขึ้น เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกอบกับปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วน และเรื่องดังกล่าวเป็นอาชญากรรมที่ทำต่อประชาชนทั่วไป อันเป็นเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ประชาชนจำนวนมาก และเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

 

อีกทั้งมิจฉาชีพได้มีการพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการฉ้อโกงอยู่เสมอ เพื่อหลบเลี่ยงการป้องกันและปราบปรามของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนดขึ้น ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

 

3.ร่างพระราชกำหนดฉบับนี้เป็นการกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อคุ้มครองประชาชนที่สุจริตซึ่งถูกหลอกให้โอนเงินโดยผ่านการติดต่อทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และลงโทษผู้ที่เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดอาญา 

4.กำหนดให้มีกลไก “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ความเห็นชอบระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล และกำหนดหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 8 คน 

5.กำหนดให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าในระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจนั้น ผ่านระบบหรือกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คณะกรรมการเห็นชอบ รวมทั้งให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการในระหว่างกัน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนนั้น (ปัจจุบันไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับรายชื่อ หมายเลขโทรศัพท์ บัญชีธนาคาร แอปพลิเคชัน หรือเครื่องมือทางเทคโนโลยีอื่น ๆ ของผู้กระทำความผิดหรือที่มีพฤติกรรมต้องสงสัย ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน) 

และกำหนดบทยกเว้นให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูล ตลอดจนการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามบทบัญญัติแห่งพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ 

 

6.กำหนดให้สำนักงาน กสทช. จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางเท่าที่จำเป็นเกี่ยวกับข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน ข้อความสั้น และข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์จากผู้ให้เครือข่ายโทรศัพท์ และผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกำหนดขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อระงับการทำธุรกรรมของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจ

 

7.กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดำเนินคดีอาญา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือจากระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือจากผู้เสียหาย ว่าบัญชีหรือกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ใดอาจถูกใช้ในการกระทำธุรกรรมเข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรม รวมถึงระงับการทำธุรกรรมต่อไปเป็นทอด ๆ ไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว

เพื่อให้มีการตรวจสอบและพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎหมายต่อไป อันเป็นการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทันท่วงที

 

8.กำหนดบทลงโทษสำหรับการที่บุคคลใดเปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือประเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยมิได้มีเจตนาใช้เพื่อตนหรือเพื่อกิจการที่ตนเกี่ยวข้อง และกรณียินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในประการที่รู้หรือควรจะรู้ว่าอาจจะนำไปใช้ในทางทุจริตหรือผิดกฎหมาย และบทลงโทษสำหรับการเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความ ผิดอาญา

 

9.ขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม เช่น  กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเองหรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรม แล้วแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมต่อไปทันทีเป็นการชั่วคราว หากตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัย ให้สามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่อไปได้ 

กรณีได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นภายในเวลา 7 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง

 

10.กำหนดบทลงโทษ แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
  2. ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ