ฟื้นสัมพันธ์ 'ไทย - ซาอุฯ' โอกาสทองการค้าไทย

หลังจากประเทศไทยฟื้นความสัมพันธ์ กับซาอุดีอาระเบียในรอบกว่า 32 ปี เครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน เติบโตอย่างรวดเร็ว ไทย - ซาอุฯ มีความร่วมมือร่วมกันทั้งหมด 9 สาขา

ผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ระบุ หลังจากประเทศไทยฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในรอบกว่า 32 ปี เครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยว การค้า และการลงทุน เติบโตอย่างรวดเร็ว ไทย-ซาอุฯ มีความร่วมมือร่วมกันทั้งหมด 9 สาขาได้แก่  การท่องเที่ยว จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชนมากขึ้น ด้านแรงงาน ไทยจะส่งแรงงานไปยังซาอุดีอาระเบีย ให้ใกล้เคียงเหมือน 30 กว่าปีก่อน ที่แรงงานไทยไปทำงานกว่า 3 แสนราย ด้านอาหาร ไทยอุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร มีศักยภาพในการผลิต และพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย ด้านการค้า และการลงทุน ทั้งสองประเทศพร้อมลงทุนระหว่างกัน อาทิ เอกชนไทยพร้อมเข้าไปลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าตกแต่งภายใน ส่วนซาอุดีอาระเบียมีความสนใจมาลงทุนด้านพลังงานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

สำหรับภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบด้วยกลุ่มประเทศต่างๆ ดังนี้ 1. กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน 2.กลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ เลบานอน จอร์แดน ซีเรีย อิรัก และเยเมน และ 3.กลุ่มประเทศที่ไม่ใช่อาหรับ จำนวน 4 ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ตุรกี ไซปรัส และอิสราเอล 

โดยตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เนื่องจากการผลิตสินค้ายังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ อันด้วยมาจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก สภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้ง ขาดแคลนแหล่งน้ำใต้ดิน ประกอบกับพื้นที่ ที่เหมาะสมสำหรับทำการเกษตรมีอยู่น้อยมาก ส่งผลให้ประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในแต่ละปี โดยเฉพาะสินค้าอาหาร และสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งต้องมีการนำเข้าสูงถึงมากกว่า 70% และจากนโยบายการเร่งอัดฉีดเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย จึงถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับการส่งออกของไทยไปยังตะวันออกกลาง

ปัจจุบันมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับตะวันออกกลาง ในช่วง 10 เดือนปี 2565 (ม.ค.- ต.ค.) มีมูลค่าการค้ารวม 1,330,144.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 73.55% แบ่งเป็นการนำเข้า 1,022,002.49 ล้านบาท และการส่งออก 308,141.98 ล้านบาท โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปตะวันออกกลาง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ 2. ข้าว 3.เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 4.ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 5.อัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากตะวันออกกลาง 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.น้ำมันดิบ 2.ก๊าซธรรมชาติ 3.น้ำมันสำเร็จรูป 4.ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืช และสัตว์ 5.เคมีภัณฑ์

ด้านนายกสมาคมการค้าผู้ส่งออกเอเชีย และตะวันออกกลาง อัครวุฒิ ตั้งศิริกุศลวงศ์ ระบุ หลังจากประเทศไทยและซาอุดีอาระเบียได้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือกันในหลายๆ ด้านของทั้งสองประเทศ อาทิ พลังงาน การท่องเที่ยว ความมั่นคง การค้า และการลงทุน สุขภาพ อาหาร และกีฬา

ชาวซาอุดีอาระเบีย ชื่นชอบ และคุ้นเคยกับสินค้าจากประเทศไทย เป็นทุนเดิมโดยประเทศไทยมีชื่อเสียงมากกับชาวตะวันออกกลางในฐานะเป็น "ครัวโลก" และ "ศูนย์กลางทางการแพทย์" ประกอบกับความสัมพันธ์ที่ฟื้นฟูหลังจากการหารือของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย เป็นโอกาสทองทางการค้าแบบนักลงทุน และ SME ไทยในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจ และการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าทั้งในซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศตะวันออกกลางด้วย

 

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ร่วมจัดงาน Thai Trade Exhibition Saudi Arabia (Riyadh) 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ส.ค. - 2 ก.ย.2566 ที่เมืองริยาด ซาอุดีอาระเบีย เป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าอุปโภค บริโภค ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้นำเข้าผู้ค้าส่ง และผู้ชมงานจากทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งมีกำลังซื้อสูง รวมทั้งนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค ได้คัดเลือกสินค้าเพื่อการนำเข้า และเลือกซื้อสินค้ารวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน และประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมไทยกับผู้คนท้องถิ่น นี่จึงเป็นโอกาสสุดพิเศษที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ทำกำไรจากการค้า และขายสินค้า และบริการอย่างยั่งยืน

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์