รัฐบาลมั่นใจสนามบินอู่ตะเภา - เมืองการบินตะวันออก สร้างผลตอบแทน 3 แสนล้าน
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เริ่มก่อสร้างต้นปี 66 นี้แน่นอน สร้างผลตอบแทน 3.05 แสนล้าน จ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่ง/ปีใน5ปีแรก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโต ฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน
ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กพอ.)ให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ จึงเร่งผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” รวมถึงเป็น “เมืองท่าที่สำคัญ" เชื่อมโยงขยายกรุงเทพไปทางตะวันออก ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในต.พลา อ.บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นโครงการในรูปแบบ PPP มีมูลค่าการมูลค่าการลงทุน รวม ประมาณ 290,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565
ที่ผ่านมา ที่ประชุมกพอ.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากเอกชนคู่สัญญา และกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้สนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน (Joint Use Agreement) และรายงาน EHIA ได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี
โดย สกพอ. ได้แจ้งให้เอกชนรับสิทธิตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 จากนี้ สกพอ. จะแจ้งให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สนามบินอู่ตะเภาตั้งเป้าหมายให้รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนต่อปี โดยโครงการจะมีการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการให้บริการสนามบินเชิงพาณิชย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมการบิน
ซึ่งจะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่จูงใจภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในการขยายการลงทุนมาสู่พื้นที่อีอีซี รวมไปถึงการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญประโยชน์ของโครงการนี้จะสร้างผลตอบแทนด้านการเงินจากค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้ มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท มีรายได้จากภาษีอากร 62,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงานด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ
“ผลจากการที่พล.อ.ประยุทธ์เร่งผลักดันโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดความสนใจของนักลงทุน และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งยังมีส่วนสนับสนุนการพื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน รองรับการเปิดประเทศ ความต้องการการเดินทาง การท่องเที่ยวและขนส่งสินค้าทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19”รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว