ในสถานการณ์ที่ราคาพลังงานอยู่ในระดับสูง พรรคการเมืองต่างๆย่อมจะชูนโยบายการปรับลด หั่นราคาพ ลังงานลงมา ยิ่งใกล้การเลือกตั้งยิ่งเห็นการแข่งขันในนโยบายด้านนี้ของพรรคต่างๆอย่างเข้มข้น
ถ้ายังจำได้ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่ราคาน้ำในตลาดโลกมีราคาปรับตัวสูงไปมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในการปราศรัยใหญ่ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แคนดิเดตนายกพรรคเพื่อไทยขณะนั้น ประกาศนโยบายว่าจะลดราคาน้ำมันลงลิตรละ 5 บาททันทีหากได้เป็นรัฐบาล
สุดท้ายมีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ปัจจุบันรัฐบาลก็ใช้มาตรการนี้เพื่อลดราคาขายปลีกกน้ำมันดีเซล และแบ่งเบาปัญหาการติดลบของกองทุนน้ำมันฯแลกกับการสูญรายได้เดือนละกว่าหมื่นล้านบาท
การเลือกตั้งในปีนี้ประเด็นเรื่องราคาพลังงานจะกลับมาเป็นไฮต์ไลท์ที่หลายพรรคการเมืองหยิบขึ้นมาใช้หาเสียง โดยเฉพาะนโยบายเรื่อง "ค่าไฟฟ้า" หลังจากที่ค่าไฟมีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน จนทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LNG) ที่ไทยใช้ผลิตไฟฟ้า 70% ราคาพุ่งสูงขึ้น แม้จะมีมาตรการช่วยเหลือที่รัฐต้องใช้เงินอุดหนุนจำนวนมาก ค่าไฟฟ้าก็ยังปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยค่าไฟภาคครัวเรือปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย ส่วนภาคธุรกิจต้องจ่ายค่าไฟ 5.33 บาทต่อหน่วย
คีย์แมนของพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวประกาศนโยบายลดค่าไฟ ปรับโครงสร้างพลังงานอย่างคึกคัก
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ประกาศในการลงพื้นที่หาเสียง ที่ จ.กาฬสินธุ์ ว่าถ้าไทยสร้างไทยให้เป็นรัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้าให้เหลือไม่เกิน 3.5บาท/หน่วย มั่นใจว่าพูดจริง..ทำได้แน่
ส่วนพรรคเพื่อไทยยืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาลราคา ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส ค่าไฟ ลดลงทันที จะรณรงค์ และส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือน ทำให้ลดการพึ่งพาน้ำมันลง
กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า บอกว่าค่าไฟฟ้าจะถูกลง จากการแข่งขันที่มากขึ้น เสนอให้มีการแยกกิจการสายส่งออกมาบริหารจัดการใหม่เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกในการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่ถูกลง หรือแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่จะมีบทบาทมากขึ้น
ขณะที่พรรค ไท ยภักดี ของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ขึ้นป้ายหาเสียง “ค่าไฟหน่วยละ 2.50 บาท ก๊าซหุงต้ม 15 บาทต่อก.ก.”
ที่จริงไม่ใช่เรื่องผิดที่แต่ละพรรคจะแข่งกันในเรื่องนโยบายพลังงาน แต่ต้องอธิบายได้ด้วยว่าจะทำได้อย่างไรให้ราคาพลังงานลดลง ทำแล้วจะต้องใช้เงินอุดหนุนอีกหรือไม่ ในวงเงินเท่าไหร่?
ที่สำคัญอย่าลืมว่าประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงาน หากราคาพลังงานในตลาดโลกมีราคาสูงจะกำหนดราคาขายในประเทศให้ถูก คงไม่พ้นต้องใช้เงินงบประมาณเข้ามาอุดหนุน ปีที่ผ่านมาเพียงปีเดียวสถานะของกองทุนน้ำมันฯติดลบไปกว่า 1.2 แสนล้านบาท ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็มีหนี้สินที่รอการชำระคืนในการเข้าไปรับภาระอุ้มค่าไฟอยู่นับแสนล้านบาท
ประชาชนอย่างเราต้องมองให้ไกล...อย่าเลือกเพียงเห็นแก่นโยบายพลังงานราคาถูก แต่ต้องใช้เงินอุดหนุนมาก เสี่ยงเพิ่มภาระงบประมาณของประเทศในอนาคต