“ดีจีเอ”ตั้งเป้ารัฐบาลดิจิทัลไทย ขึ้นชั้นติด 40 อันดับแรกของโลก

“ดีจีเอ”ตั้งเป้ารัฐบาลดิจิทัลไทย  ขึ้นชั้นติด 40 อันดับแรกของโลก

“ดีจีเอ” เปิดแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลประเทศ 2566-2570 ตั้งเป้าขยับอันดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศขึ้นไปเป็นอันดับที่ 40 ของโลกจากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 53 ของบบูรณาการปี 67 กว่า 5 พันล้านบาท ผนึก 51 หน่วยงาน

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (DGA) เปิดเผยในการแถลงข่าวภายในงาน “Connect to be Better” ว่า ภารกิจงานด้านรัฐบาลดิจิทัลนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเรือธงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาต่อไปในระดับสาดกล โดย DGA ในฐานะเจ้าภาพจัดทำแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัลและส่งเสริมการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศ พ.ศ.2566-2570 และเสนอให้สภาพัฒนาเศรษกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแล้ว 

สำหรับเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม คือ การผลักดันให้ดัชนีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย หรือ E-Government Development Index (EGDI) อยู่ที่อันดับ 40 ของโลกให้ได้ภายในปี 2570 จากปัจจุบันที่อยู่ที่อันดับ 51 ตามการประเมินขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ทั้งนี้ DGA ได้มีการตั้งเป้าหมายว่าต้องผลักดันให้ภาครัฐปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐ เชื่อมโยงและพัฒนาบริการที่สะดวก ใช้ง่าย เข้าถึงประชาชนและภาคธุรกิจให้เป็นศูนย์การบริหารจัดการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) โดยทำไปพร้อมกับการพัฒนา Digital Skill ให้กับบุคลากรภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

“ดีจีเอ”ตั้งเป้ารัฐบาลดิจิทัลไทย  ขึ้นชั้นติด 40 อันดับแรกของโลก

สำหรับโครงการที่ DGA จะเร่งดำเนินการในปี 2566 คือการเดินหน้ายกระดับงานบริการประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สามารถเปิดตัวระบบท้องถิ่นดิจิทัล เพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ อปท.ให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนในท้องถิ่นได้รวดเร็ว โดยมีเป้าหมายสนับสนุน อปท.จำนวน 400 แห่งให้ได้ในปี 2566

 

ส่วนโครงการที่จะทำในปี 2567 มีหลายโครงการที่จะดำเนินการในลักษณะการดำเนินการในลักษณะของการบูรณาการงบประมาณ โดย DGA ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพจัดทำแผนงานบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ได้นำเสนอแผนงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารายจ่ายงบประมาณแผนงานบูรณาการ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน 

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบโครงการภายใต้แผนทั้งสิ้น 78 โครงการ จาก 51 หน่วยงาน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 5,523.91 ล้านบาท โดยแผนงานทั้งหมดจะจัดส่งไปยังสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาจัดทำเป็นร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามลำดับ

“ในปีนี้เราของบประมาณมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจ และการทำงานบูรณาการกับหลายหน่วยงานหลังจากที่มีประกาศจากรัฐบาลให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐให้บริการประชาชนในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น โดยโครงการที่สำคัญที่ได้ของบประมาณในปี 2567 เช่นโครงการฐานข้อมูลสาธารณสุข โครงการระบบงบประมาณและการตรวจสอบงบประมาณผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการฐานข้อมูลดิจิทัลของเอสเอ็มอี”

“ดีจีเอ”ตั้งเป้ารัฐบาลดิจิทัลไทย  ขึ้นชั้นติด 40 อันดับแรกของโลก

นายสุพจน์ กล่าวว่า ในปี 2566 DGA ได้มีการปรับภาพลักษณ์ขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับ Brand Value ขององค์กร ที่กำหนดว่า “รัฐบาลดิจิทัลเพื่อสร้างประเทศให้ทันสมัย (Smart Nation) ยกระดับวิถีชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น (Smart Life)” เพื่อรองรับความท้าทายที่จะทำให้ DGA เป็นองค์กรที่เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน มากกว่าพูดแค่เรื่องเทคโนโลยีโดยเราเน้นการสร้างคุณค่าองค์กรให้พร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้าเพื่อยกระดับวิถีชีวิตของคนไทยและประเทศให้ดีและทันสมัยยิ่งขึ้น

 

ชูบทบาท Smart Connector 

นอกจากนี้ การวางกลยุทธ์ใหม่นี้ทำให้องค์กรเราเห็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้นว่าคน DGA จะต้องมีพันธุกรรม หรือ DNA ของการเป็น “Smart Connector” หรือ ผู้ร่วมคิดร่วมสร้างสรรค์ และพร้อมทำงานเชื่อมต่อภาครัฐกับประชาชนเพื่อทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีขึ้น 

รวมทั้งที่ผ่านมา DGA มีผลงานเด่นในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงบริการภาครัฐกว่า 80 บริการเพื่อให้บริการประชาชน ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งมียอดการใช้งานสะสมกว่า 3.8 ล้านครั้งในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนรับบริการรัฐได้ ผ่านช่องทางเดียว ง่าย จบ ครบทุกช่วงวัย ในขณะที่ SME หรือภาคธุรกิจก็ได้รับการอำนวยความสะดวกในการติดต่อขอรับบริการจากภาครัฐกว่า 95 ใบอนุญาต ผ่าน bizportal.go.th ซึ่งช่วยให้การเริ่มต้นธุรกิจเป็นเรื่องง่ายขึ้น

"DGA ต้องการเห็นคุณภาพชีวิตคนไทยดีขึ้น เราต้องการเห็นระบบสาธารณสุขที่คนไทย เข้าถึงบริการได้ง่าย ทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำ ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจได้อย่าง รวดเร็ว ราบรื่น ยกระดับประสิทธิภาพขององค์กร เพื่อให้ประเทศของเราทันสมัย ก้าวหน้าทันโลกโดยการพัฒนาบริการภาครัฐที่ เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส มีอยู่จริง ทำได้จริง”นายสุพจน์ กล่าว