วิสัยทัศน์ใหม่รับความท้าทาย “อตก.”มุ่งเทรดเดอร์“เกษตรยั่งยืน”
เมื่อยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ( อ.ต.ก.) ต้องปรับนโยบายรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ใช่เฉพาะผู้บริโภคในประเทศเท่านั้นแต่เป้าหมายใหญ่คืออ.ต.ก. ต้องการสร้างภาพลักษณ์เป็นเทรดเดอร์ ให้กับภาคการเกษตรของไทย
ปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการ อ.ต.ก. กล่าวว่า การช่วยเหลือเกษตรกรด้านการตลาดสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกร จัดหาและจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ราคาเป็นธรรมและตรงตามเวลาที่ต้องการให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร ในการเจรจา การจำหน่าย การตลาดและการเก็บรักษาซึ่งผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ ทางการเกษตร คือวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้ง อ.ต.ก.
แต่ตลอดระยะเวลาที่จัดตั้ง อ.ต.ก. ขึ้นมา ในปี 2517 จนถึงปัจจุบัน ภารกิจที่ อ.ต.ก. ต้องปฏิบัติ คือถูกใช้เป็นเครื่องมือของนักการเมือง และนโยบายรัฐ ทำให้องค์กรเป็นหนี้สินในขณะนี้กว่า 2 หมื่นล้านบาท หนี้สินจำนวนนี้เหมือนเป็นโซ่ตรวน รั้งอ.ต.ก.ไว้ไม่สามารถลงทุนเพื่อสร้างรายได้ทางด้านอื่นได้ แม้ศักยภาพของ อ.ต.ก. มีมากพอจะเป็นตลาดกระจายสินค้าเกษตรได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเมื่อสถานการณ์การค้า เศรษฐกิจ และความต้องการของผู้บริโภคของโลกเปลี่ยนไป มีการค้าทางออนไลน์เกิดขึ้น และสินค้าของเกษตรกรสามารถเจาะถึงผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม
ดังนั้น อ.ต.ก. จึงต้องปรับวิสัยทัศใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยจะเป็นองค์กรที่เป็นศูนย์กลางและช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีความโดดเด่น น่าเชื่อถือด้านคุณภาพเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน ผลักดันพันธกิจหลักคือ สร้างและพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรในระบบออนไลน์ ออฟไลน์ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าเกษตร สนับสนุนและส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้รับความเชื่อถือด้านคุณภาพ สร้างมาตรฐานแบรนด์ อ.ต.ก. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรโดยใช้การตลาดนำการผลิต
“ผมต้องการทำ อ.ต.ก. ให้เป็นเทรดเดอร์ และ จัดทำ Marketing ให้กับสินค้าเกษตรทุกชนิด เริ่มต้นปีนี้จากการร่วมงาน International Green Week ที่เยอรมนี ที่จัดขึ้นใน 20-29 ม.ค. 2023 ในงานนี้ อ.ต.ก. นำสินค้าเกี่ยว ด้านกรีนทั้งหมด เช่น ผ้าไหม มะม่วงน้ำดอกไม้ ข้าวเหนียวมะม่วง ฝรั่ง มะพร้าว เป็นต้นไปจำหน่วย พร้อมทั้งแนะนำเชิญชวนและรับออเดอร์ภายในงานด้วย เพื่อสร้างการตลาดส่งออก จากเดิมที่การร่วมงานดังกล่าว จะเน้นด้านการโชว์สินค้า แนะนำองค์กรให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าสร้างประโยชน์น้อยเกินไป “
โดยการร่วมงานระดับสากล ดังกล่าว ในปี 2566 จะมีทั้งหมด 4 ครั้ง คือ ที่เยอรมัน 2 งาน ช่วงต้นปีในงาน International Green Week และกลางปีอีกครั้ง นอกจากนั้นเป็นการร่วมงานเซนได ที่ญี่ปุ่น และซาอุดิอาระเบีย เป็นการเปิดตลาดใหม่ สินค้าที่จะนำไปจำหน่ายจะคัดเลือกตามวัฒนธรรมการบริโภค ที่สำคัญสินค้าเกษตรของไทยต้องมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จากการโรดโชว์เบื้องต้นพบว่าคู่ค้าเหล่านั้นต้องการซื้อผ่าน Catering อ.ต.ก. มีความสามารถตรงนี้ ในการคัดเลือกสินค้าและจัดรูปแบบได้อย่างเหมาะสม มั่นใจว่าจะสามารถสร้าง Market Cap ได้
การแผนการตลาดของ อ.ต.ก. จะมี 3 รูปแบบ คือ 1. การจัด Marketplace ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ แต่ลดขนาดลงให้เป็นศูนย์กลางสินค้าพรี่เมี่ยม เริ่มจากสินค้าที่ภายใต้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมาต่อยอด สร้างแบรนด์ร่วมขึ้นมา 2. การสร้างแบรนด์ ซีเล็ค หมายถึงการเลือกสินค้าแล้วคุมคุณภาพให้เป็นไปตามที่อ.ต.ก. ต้องการ และ 3 การสร้างแบรนด์ของ อ.ต.ก.เอง ทั้งสินค้าแปรรูป และสินค้าทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าหลายอย่างที่ผู้บริโภคเชื่อมั่น แต่ การผลิตไม่ต่อเนื่องและไม่ได้รับการส่งเสริม
“อ.ต.ก. จะปรับปรุง อาคารหน้าถนนพลโยธิน วงเงิน 7 ล้านบาท เพื่อเป็นศูนย์แสดงสินค้าต่างๆเน้นสินค้าจากหน่วยงานราชการ แล้วพาเทรดเดอร์มาดูเป็นการทำงานตามกลไกของอ.ต.ก. ซื้อเอง ขายเอง แทนการใช้เงินแทรกแซงอย่างอดีตที่ผ่านมา”
การรับซื้อสินค้าจะเป็นไปตามฤดูกาลแต่ไม่เป็นจำนวนมากเพื่อให้ง่ายต่อการจำหน่ายออก ทั้งขายส่งและปลีก วิธีการนี้จะส่งผลทางอ้อมต่อราคาในตลาด เนื่องจากอ.ต.ก. ได้ซื้อนำตลาดไปแล้วเป็นการการันตีคุณภาพของสินค้าไปในตัว เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรตามวัตถุประสงค์ขององค์กร และยังสามารถสร้างรายได้และสร้างฐานการตลาดให้กับอ.ต.ก. ด้วย
ความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้ธุรกิจติดล่มและหลุดออกจากวงจรได้ แต่อีกด้านหนึ่ง หากปรับมุมมอง หรือ วิสัยทัศน์ใหม่ความท้าทายที่ว่านี้ก็อาจกลายเป็นโอกาสที่สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้