"ช้อปดีมีคืน 2566" โค้งสุดท้าย ซื้อสินค้า บริการภายใน 15 ก.พ. ใช้ลดหย่อนภาษี
โค้งสุดท้าย! อีก 10 วันเท่านั้นจะสิ้นสุดโครงการช้อปดีมีคืน หรือ "ช้อปดีมีคืน 2566" ใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการภายใน 15 ก.พ. นี้ อย่าลืมขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปไว้ ลดหย่อนภาษี สูงสุด 40,000 บาท
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่รัฐบาลดำเนิน โครงการช้อปดีมีคืน หรือ "ช้อปดีมีคืน 2566" โดยมีระยะเวลาให้ประชาชนที่จะใช้สิทธินำยอดการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการไป ลดหย่อนภาษีเงินได้ สำหรับปีภาษี 2566 สามารถใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -15 ก.พ. 2566 ขณะนี้โครงการดำเนินมาถึงโค้งสุดท้ายเหลือเวลาอีก 10 วันสุดท้าย
ทั้งนี้ จึงขอย้ำเตือนผู้มีเงินได้ ที่ประสงค์จะร่วมโครงการหากมีการใช้จ่ายในช่วงนี้จนถึงวันที่ 15 ก.พ. อย่าลืมขอ ใบกำกับภาษี เต็มรูปในรูปแบบกระดาษ หรือ ใบกำกับภาษีเต็มรูปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) จากผู้ขาย จากนั้นก็เก็บใบกำกับภาษีจากการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดำเนินโครงการนี้ไปประกอบการหักลดหย่อนภาษีในช่วงยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2566 ในช่วงเดือนม.ค.-มี.ค. 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
โครงการ ช้อปดีมีคืน หรือ "ช้อปดีมีคืน 2566" เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ประชาชนผู้มีเงินได้นำยอดการใช้จ่ายการซื้อสินค้า และบริการที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 1 ม.ค. -15 ก.พ. 2566 ไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 40,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า
- ยอดการใช้จ่าย 30,000 บาท นั้นสามารถใช้ได้ทั้งใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบกระดาษ และใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt
- ยอดการใช้จ่าย 10,000 บาท จะต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการที่ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ e-Tax Invoice & e-Receipt เท่านั้น
สำหรับสินค้าและบริการที่ผู้มีเงินได้เลือกซื้อ และใช้บริการนั้นมีหลากหลายซึ่งรวมถึงการเติมน้ำมันรถยนต์ และจักรยานยนต์ แต่ต้องเป็นการซื้อสินค้าและบริการจากผู้ขายหรือผู้ให้บริการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับ กรมสรรพกร เท่านั้น
สินค้าและบริการบางประเภทที่ไม่เข้าร่วม "ช้อปดีมีคืน 2566" อาทิ
- ค่าสุรา
- ยาสูบ
- ค่าซื้อรถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
- ค่าบริการจัดนำเที่ยว
- ค่าที่พักในโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ภายใต้โครงการช้อปดีมีคืน รัฐบาลคาดว่าจะเกิดการใช้จ่ายและมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 56,000 ล้านบาท สนับสนุนให้จีดีพีเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายร้อยละ 0.16 และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนเป็นการสนับสนุนการใช้ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ด้วย