โพลล์วันวาเลนไทน์ เงินสะพัดกว่า 2 พันล้านบาท
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายประชาชนในวันลาเลนไทน์ ปี 66 พบ เม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% คึกคักสุดในรอบ 3 ปี หลังเจอโควิด –19
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษา ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันวาเลนไทน์ ปี 2566 ว่า ได้สำรวจ จากกลุ่มตัวอย่าง 1,255 ราย ทั่วประเทศ พบว่า วาเลนไทน์ปีนี้ จะมีเม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% บรรยากาศคึกคักสุดในรอบ 3 ปีนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ประเทศไทยเริ่มมีการระบาดของโรคโควิด-19
ส่วนค่าใช้จ่ายโดยรวมในช่วงวาเลนไทน์เฉลี่ย 1,848.82 บาทต่อคน เมื่อถามถึงค่าใช้จ่าย เฉพาะการซื้อของมอบให้กับคู่รัก เมื่อจำแนกตาม Gen จะพบว่า Gen X มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,666 บาทต่อคน Gen Y มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,251 บาทต่อคน และ Gen Z มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 823 บาทต่อคน โดยเฉลี่ยแล้วมีค่าใช้จ่ายเฉพาะการซื้อของมอบให้คนรัก 1,100 บาท/คน
สำหรับการไปฉลองวาเลนไทน์ปีนี้นั้น ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 49.2% ต้องการจะไปฉลองวาเลนไทน์กับคนรัก หรือคนรู้ใจ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างในสัดส่วนใกล้เคียงกัน 50.8% ตอบว่าไม่ไปฉลอง โดยสถานที่ที่ต้องการไปฉลองวาเลนไทน์มากสุด คือ ห้างสรรพสินค้า รองลงมา คือ คาเฟ่ และร้านอาหาร ส่วนปัจจัยที่ใช้ในการเลือกซื้อของขวัญในวันวาเลนไทน์ 5 อันดับแรก คือ ความชอบของผู้รับ รองลงมา คือ ความสะดวก, ประโยชน์, ความนิยม และราคา
ส่วนบรรยากาศวาเลนไทน์ปีนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 48.1% มองว่าเหมือนเดิม ขณะที่ 29.1% มองว่าคึกคึกกว่าเดิม เพราะมีสถานที่เที่ยวมากขึ้น, คาดหวังว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น และผู้ปกครองไม่อยู่ ส่วนอีก 22.8% มองว่าคึกคักน้อยกว่าเดิม เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น, เศรษฐกิจแย่ลง และตกงาน
“เม็ดเงินสะพัด 2,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.5% ทำให้คาดว่าวาเลนไทน์ปีนี้ บรรยากาศจะกลับมาคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่คึกคักเต็มที่ เนื่องจากวันที่ 14 ก.พ.ปีนี้ ตรงกับวันอังคาร ซึ่งเป็นวันธรรมดา ไม่ใช่ช่วงวันหยุด แต่คาดว่าวาเลนไทน์ปีหน้า (2567) จะคึกคักมากกว่านี้ เพราะดูจากโครงสร้างเศรษฐกิจ”นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่าเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ มูลค่าการใช้จ่ายเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี ขณะที่เมื่อเทียบกับเทศกาลอื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ เทศกาลปีใหม่ เทศกาลตรุษจีน ที่รายได้กลับมาเป็นบวกในรอบ 3 ปี อาจเป็นเพราะว่ามีช่วงเทศกาลติดกันหลายเทศกาล และวาเลนไทน์อาจเป็นเทศกาลของคนเฉพาะกลุ่ม