เอสซีจี รุกธุรกิจพลังงานสะอาด ตั้งเป้าปี 66 เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 160 เมก
เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ผู้ให้บริการโซลูชั่นพลังงานสะอาด บริษัทน้องใหม่ในเครือเอสซีจี คาดปีนี้ดีมานต์พลังงานทดแทนขยายตัวต่อเนื่องรับมือต้นทุนพลังงานพุ่ง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้านิคมอุตสาหกรรม บริษัทใหญ่ โรงแรม โรงพยาบาล ตั้งเป้าปีนี้เพิ่มกำลังผลิต 4 เท่า
นายอรรถพงศ์ สถิตมโนธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ เป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้จาก 3 ธุรกิจหลักของเอสซีจี สู่โมเดลธุรกิจใหม่ในการเป็น “Private PPA” หรือ "ผู้ให้บริการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดครบวงจร" เพื่อแก้วิกฤตต้นทุนพลังงานและค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตอบโจทย์ "คีย์เทรนด์" ของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition)
โดยกลุ่มลูกค้าหลักของเอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จะเป็นผู้ที่ใช้ไฟฟ้าปริมาณมากและต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และโรงพยาบาล โดยจะให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การคำนวณงบลงทุนและการคืนทุน ไปจนถึงการซ่อมบำรุงและดูแลรักษา ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะใช้งบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า 4 เท่า
ทั้งนี้ บรฺิษัทมี 3 จุดเด่น ที่พร้อมส่งมอบบริการให้ลูกค้า ประกอบด้วย
- “ซื้อ-ขายไฟ Smart Grid” คุ้มค่า ลดต้นทุนพลังงานจากกระแสไฟฟ้าที่ผลิตโดยแผงโซลาร์ซึ่งติดตั้งทั้งบนพื้นดิน หลังคา ผืนน้ำ และที่ดินว่างเปล่า โดยสามารถซื้อ-ขายไฟฟ้าได้ เมื่อผลิตเกินความต้องการใช้ ด้วยนวัตกรรมระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid)
- “คู่คิดครบวงจร” อำนวยความสะดวก ด้วยทีมวิศวกรมืออาชีพที่ให้คำปรึกษาทั้งก่อน – หลังติดตั้งแผงโซลาร์ตลอดอายุสัญญา อาทิ การขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์ การคำนวณต้นทุนและกำลังการผลิตที่เหมาะสม การซ่อมบำรุง
- “ดูแลทุกขั้นตอนด้วยโรบอท” สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีโดรนบินสำรวจแผงโซลาร์ที่ชำรุด (Drone Inspection) แจ้งเตือนให้ซ่อมบำรุง และ หุ่นยนต์ทำความสะอาดแผงโซลาร์ (Robot Cleaning)
"บริษัทมีฐานลูกค้าซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำขนาดใหญ่ทั้งในไทยและอาเซียน อาทิ โตโยต้า ศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลเปาโล ล่าสุดติดตั้งแล้วที่กลุ่มบริษัทสหยูเนี่ยน บางปะกง"
ปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดอยู่ที่ 234 เมกกะวัตต์ แบ่งเป็นผลิตเพื่อใช้เองในโรงงานของเอสซีจี 194 เมกกะวัตต์ และผลิตให้ลูกค้า 40 เมกกะวัตต์ โดยปี 2566 ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 เท่า อยู่ที่ 160 เมกกะวัตต์ ด้วยงบลงทุน 5,000 ล้านบาท
รวมทั้งกำหนดงบลงทุน สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอีกกว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า