‘ฟิวเจอร์ฟู้ด’ เทรนด์อาหารโลก ดีต่อสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ผู้ส่งออกอาหารในอาเซียนโดยในปี 2565 ถือเป็นปีทองของการส่งออกอาหารไทย ส่งออกได้มูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22%
รองประธานหอการค้าไทยและนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ระบุ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 13 ของโลก และเป็นอันดับ 2 ผู้ส่งออกอาหารในอาเซียนโดยในปี 2565 ถือเป็นปีทองของการส่งออกอาหารไทย ส่งออกได้มูลค่า 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% ในอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในจำนวนนี้สัดส่วน 10% มาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่า ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยในหมวดสินค้าอาหารใช้วัตุดิบในประเทศสัดส่วนถึง 70% ส่วน 30% เป็นการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนผสมบางอย่างที่ไทยไม่มีหรือยังทำได้ไม่ดีเท่าในต่างประเทศ ทำให้การส่งออกสินค้าอาหารสุทธิของไทยปี 2565 เติบโตประมาณ 10% แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่ดีมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผ่านไปถึงระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น
ในปี 2565 ตลาดส่งออกสินค้าอาหารไทย 5 อันดับแรกได้แก่ จีน มูลค่าส่งออก 357,135 ล้านบาท (+12%), อาเซียน 350,741 ล้านบาท (+26%), ญี่ปุ่น 162,055 ล้านบาท (+17%), สหรัฐฯ 152,383 ล้านบาท (+16.7%) และสหภาพยุโรป(อียู) 116,322 ล้านบาท (+32%) สินค้าส่งออกสำคัญ คือ ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป ไขมันจากพืชและสัตว์ น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล
ซึ่งในปี 2566 เทรนด์อาหารโลกก็เน้นอาหารที่มาจากโปรตีนจากพืชและสัตว์ อาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งอาหารสัตว์เลี้ยงถือเป็นสินค้าม้ามืดของไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาที่แนวโน้มการส่งออกเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ อาหารอนาคต (Future Food) ที่ดีต่อสุขภาพและดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นกลุ่มอาหารที่มาแรงในปีนี้ โดยมูลค่าการส่งออก Future Food ของไทยในปี 2565 มีมูลค่า 129,301 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปีก่อน
สำหรับอาหารอนาคต หรือ Future Food ของไทย คือ อาหารที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นสินค้าแนวโน้มสดใสเพราะเกี่ยวข้องกับ BCG โดยไทยมีแผนผลักดันให้เป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปมูลค่าสูงซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิต โดยเฉพาะอาหาร 2 ชนิดคือ อาหารที่มาจากพืช และอาหารในอนาคตที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 2 % ของอาหารแปรรูปจากปศุสัตว์และสัตว์น้ำ หากเพิ่มเป็น 10 %ภายใน 10 ปีคาดว่าจะสร้างมูลค่าได้มหาศาล
5 ความท้าทายส่งออกอาหารไทย
สำหรับความท้าทายต่อเศรษฐกิจและการส่งออกในปีนี้ใน 5 เรื่องหลัก ประกอบด้วย 1.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะสงครามรัสเซียและยูเครน ที่ส่งผลอาหารโลกโดยเฉพาะธัญพืชและข้าวสาลี ที่หายไปจากตลาดโลก เมื่ออาหารหายไปส่งต่อระดับราคา ทำให้เกิดการแย่งกันซื้อวัตถุดิบ แม้แต่ไทยก็ได้รับผลกระแม้ไทยจะส่งออกอาหารถึง 30%
2.อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อแม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อจะลดระดับลงมาแล้วแต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อย จากราคาต้นทุนที่ขยับขึ้น ซึ่งไทยเองก็ถูกส่งผ่านไปยังเรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเอสเอ็มอีที่อยู่ในระหว่างการฟื้นตัวจากโควิด-19 แต่ก็มาเจอกับดอกเบี้ยสูงก็ฟื้นตัวยากขึ้นไปเอง
3.มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีซึ่งเริ่มก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 พอเจอโควิด-19 ก็ชะลอตัว แต่จากนี้น่าจะเข้มข้นขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ต้องใช้มาตราดังกล่าว 4.การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศไม่สะดวกทำให้ขาดแคลนแรงงานเพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนมาใช้ออโตเมติกได้รวดเร็ว ยังจำเป็นต้องมีแรงงานคนและ 5.ราคาพลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นแม้ว่าช่วงนี้ราคาพลังงานจะปรับตัวลดลงแล้ว