ฟื้นชีพเหมืองทอง ”อัครา” “คิงส์เกต” จ่อถอนคดีอนุญาโตฯ
“รัฐบาล-คิงส์เกต” เตรียมยุติข้อพิพาทเหมืองทอง ทั้ง 2 ฝ่ายจ่อถอนคดีออกจากอนุญาโตตุลาการ พร้อมทำข้อตกลงไม่กลับมาฟ้องใหม่ ต่างฝ่ายรับผิดชอบค่าทนาย เผยไทยตั้งงบสู้คดีเกือบ 800 ล้าน “อัครา” ลุยปรับปรุงเหมือง รออุตสาหกรรมตรวจความพร้อม คาดเปิดได้ภายใน ก.พ.นี้
Key Points
- คำสั่งปิดเหมืองอัครานำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับคิงส์เกต
- คิงส์เกตยื่นเรื่องสู่อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเมื่อปี 2560
- ทั้ง 2 ฝ่าย เจรจาเพื่อให้ถอนคดีออกจากอนุญาโตตุลาการ
- เหมืองทองจะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้งหลังจากได้ต่อสัมปทาน
- “อัครา” ลงทุนเตรียมการก่อนเปิดเหมือง 600 ล้านบาท
ข้อพิพาทระหว่างบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย กับรัฐบาลไทย ในประเด็นเหมืองทองอัคราไมนิ่ง กำลังจะได้ข้อสรุปหลังจากมีข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 2563 และถูกนำเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ
สำหรับเหมืองทองอัคราไม่นิ่ง ดำเนินการโดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่คิงส์เกตเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยได้รับสัมปทานเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตรพิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ระงับการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 หลังจากนั้นคิงส์เกตได้ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยลงวันที่ 3 เม.ย.2560 เพื่อใช้สิทธิ์หารือ (Consultation Process) ภายใต้เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย แต่ไม่เป็นผลทำให้วันที่ 2 พ.ย.2560 ได้แจ้งนำเรื่องเข้าอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่การไต่สวนที่สิงคโปร์ครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.2563
ระหว่างกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่ผ่านมาคิงส์เกต ได้แสดงจุดยืนเจรจาหาทางออกร่วมกับรัฐบาลไทย ขณะที่บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ประเมินการเสียโอกาสทำเหมืองที่จะผลิตโลหะใน 8-10 ปี ข้างหน้าแบ่งเป็นโลหะทอง 8.9 แสนออนซ์ มูลค่า 37,020 ล้านบาท และโลหะเงิน 8.3 ล้านออนซ์ มูลค่า 3,984 ล้านบาทรวมมูลค่า 41,004 ล้านบาท
จ่อถอนคดีจากอนุญาโตฯ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต และรัฐบาลไทย มีความเป็นไปได้ที่ทางบริษัทคิงส์เกตจะถอนคดีออกจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการและทำข้อตกลงที่จะไม่กลับมาฟ้องในข้อพิพาทเดิมอีก โดยให้ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบค่าทนายของตนเอง
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อเดือน ก.ย.2565 ทบทวนกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ระหว่างปีงบประมาณ 2560-2564 จากเดิมที่ขอวงเงิน 731.13 ล้านบาท เพิ่มเป็น 796.67 ล้านบาท และปรับกรอบเวลาเป็น 2560-2566
แหล่งข่าว กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนเปิดการทำเหมืองแร่ทองคำชาตรีอีกครั้ง โดยดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมด้วยเงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุญาตเปิดการทำเหมือง
ทั้งนี้ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นหนังสือไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมจังหวัดพิจิตร และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ม.ค.2566 ซึ่งรับเรื่องแล้วส่งต่อให้สำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เขต 5 พิษณุโลก (สรข.5) เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและพิจารณาความพร้อมของโรงงานเครื่องจักรและสารเคมี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อัคราจะสามารถเริ่มเดินเครื่องได้อีกครั้งภายในเดือน ก.พ.นี้
รัฐต่อสัมปทานให้ 10 ปี
นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการแร่แห่งชาติ เห็นชอบการอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตรออกไปอีก 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2564 ถึงวันที่ 29 ธ.ค.2574 ด้วยวิธีการทำเหมืองแร่แบบเหมืองเปิด โดยประทานบัตร 4 แปลง ได้แก่ ประทานบัตรที่25528/14714 ในพื้นที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
ประทานบัตรที่ 26910/15365 ประทานบัตรที่ 26911/15366 และประทานบัตรที่26912/15367 ในพื้นที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
รวมทั้ง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้อนุญาตการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมที่ 1/2551 เพื่อประกอบโลหกรรมแร่ทองคำออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2565 ถึงวันที่ 18 ม.ค.2570 ด้วยวิธีการโลหะวิทยาสารละลาย วิธีการโลหะวิทยาไฟฟ้า และวิธีการโลหะวิทยาความร้อน ที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร และที่ตำบลท้ายดง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์
ตรวจสอบตั้งกองทุนตามกฎหมาย
รวมทั้ง สรข.5 จะเข้าไปตรวจสอบการจัดตั้งกองทุนตามที่กฎหมายกำหนดและเตรียมออกใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 โดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ 4 กองทุด คิดเป็น 22% ของค่าภาคหลวงแร่ที่ต้องชำระในแต่ละปี หรือรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 65 ล้านบาทต่อปี
สำหรับกองทุนสำหรับดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านรอบเหมืองแร่ทั้งในด้านการพัฒนาอาชีพ ชีวิตความเป็นอยู่และด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในเขตรัศมี 3 กิโลเมตร จำนวน 17 หมู่บ้าน โดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% ของค่าภาคหลวงแร่ที่ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ
ส่วนกองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังสุขภาพประชาชนรอบพื้นที่เหมืองแร่ในเขตรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 28 หมู่บ้าน โดยต้องจ่ายเงินสมทบในอัตรา 3% ของค่าภาคหลวงแร่ที่ชำระในแต่ละปี แต่ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี ตลอดระยะเวลาที่มีการประกอบการ
ชุมชนเริ่มออกมาคัดค้าน
แหล่งข่าว กล่าวว่า หลังจากมีข่าวการกลับมาเปิดเหมืองทองชาตรีอีกครั้ง ยังคงได้รับเรื่องคัดค้านร้องเรียนจากชาวบ้านส่วนหนึ่งเข้ามาต่อเนื่อง โดยได้แสดงเจตนาไม่ต้องการให้กลับมาเปิดเหมืองอีกครั้ง เพราะปัญหาเก่ายังเคลียร์ไม่จบ ซึ่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไม่ได้คัดค้านในนามองค์กรหรือกลุ่มใด แต่เป็นการ้องเรียนในนามบุคคลต่อการต่ออายุประทานบัตรเหมืองแร่
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เคยออกมาชี้แจงถึงการสนับสนุนของชุมชนต่อการเปิดเหมืองทองคำ