ธปท.จ่อรื้อเกณฑ์ปล่อยกู้คุม ‘หนี้ครัวเรือน’
ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 86.6% แต่การลดลงของหนี้ดังกล่าว เป็นการลดลงเฉพาะสัดส่วนเท่านั้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญแต่คุณภาพหนี้ยังคงเดิม
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ระบุ ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยปรับลดลงต่อเนื่อง มาอยู่ที่ 86.6% แต่การลดลงของหนี้ดังกล่าว เป็นการลดลงเฉพาะสัดส่วนเท่านั้น จากการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญแต่คุณภาพหนี้ยังคงเดิม ในหลายประเทศกำหนดระดับหนี้ครัวเรือนที่ต้องเฝ้าระวัง คือไม่เกิน 80% เพราะหากสูงเกินไปอาจฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาว และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินในอนาคตได้
ทั้งนี้ หากมองภาพหนี้ครัวเรือนไทยที่ระดับ 86.6% หรือ 14.9 ล้านล้านบาท พบว่า 2 ใน 3 เป็นที่เกี่ยวกับการบริโภค และ 1 ใน 3 เป็นหนี้ที่อยู่อาศัยที่มีความจำเป็น สวนทางกับต่างประเทศที่ 2 ใน 3 เป็นหนี้บ้าน ทำให้ครัวเรือนมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศไทย ดังนั้น ธปท.จึงต้องออกแนวนโยบายการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพราะมองว่าภายใน 5 ปี หรือปี 2570 หากไม่ทำอะไรหนี้ครัวเรือนจะอยู่ที่ระดับ 84% ซึ่งสูงกว่าระดับการเฝ้าระวังที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยได้
ภายใต้แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ธปท.แบ่งกลุ่มลูกหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไข 1. หนี้เสียที่มีอยู่ในปัจจุบัน ต้องเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ตามมาตรการแก้หนี้ระยะยาว 2. หนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ให้ลูกหนี้เห็นทางปิดจบหนี้ได้ โดยผลักดันให้มีแนวทางแก้ไขปัญหา เริ่มจากหนี้บัตรกดเงินสดที่เป็นหนี้เรื้อรังของลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง มีอายุมากและมีปัญหาทางการเงินรุนแรงก่อน 3. หนี้ใหม่ที่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียหรือเรื้อรังในอนาคต ธปท. จะออกเกณฑ์เพื่อให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ และ 4.หนี้ที่ยังไม่อยู่ในตัวเลขหนี้ครัวเรือน เช่น หนี้ กยศ. สินเชื่อสหกรณ์อื่น และหนี้นอกระบบ จะติดตามข้อมูลให้ครอบคลุมลูกหนี้ต่าง ๆ มากขึ้น
ส่วนการดูแลการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้มีคุณภาพ ธปท.จะออกเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ ปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ รวมถึงการกำหนดให้เจ้าหนี้ปล่อยสินเชื่อโดยคำนึงถึงความสามารถในการจ่ายหนี้คืนและลูกหนี้ยังมีเงินเหลือพอดำรงชีพ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหนี้สินเชื่อรายย่อยคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้แต่ละราย พร้อมผลักดันให้เจ้าหนี้อื่นเห็นพฤติกรรมดีของลูกหนี้ เพื่อกระตุ้นการรีไฟแนนซ์หนี้ไปยังดอกเบี้ยที่ถูกลง โดยคาดจะออกหลักเกณฑ์ได้ไตรมาส 2-3 ปีนี้ และคาดว่าจะบังคับใช้สิ้นปี 2566
ทั้งนี้ ธปท. จะเร่งผลักดันการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางที่วางไว้ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บังคับใช้ได้จริงเหมาะสมกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการเงิน และสามารถดูแลหนี้ครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้ภาคครัวเรือนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และภาคการเงินมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับการพัฒนาด้านดิจิทัลและการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้