สร้างคนสู่ยุค 4.0 ดันไทยผู้นำนวัตกรรม
แชร์ 3 มุมมองผู้นำองค์กรรัฐ-เอกชน ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทย ระบุหัวใจสำคัญต้องสร้างคนมีการศึกษา ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค 4.0 รู้เท่าทันวิถีคิดที่เปลี่ยนตามเจเนอเรชั่นใหม่
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาวิชาการ หัวข้อ “บริบทใหม่ประเทศไทย ก้าวไกลด้วยผู้นำเชิงนวัตกรรม” จัดโดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2566 ว่า ลักษณะของชาติที่ยิ่งใหญ่ อาจจะมีประศาสตร์ยาวนานแบบจีน หรือมีทรัพยากรน้ำมันมากอย่างซาอุดิอาระเบีย หรือประเทศที่ตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์เดินเรือสำคัญอย่างสิงคโปร์ แต่สำหรับประเทศที่ไม่มีอะไรเลยก็ยกให้ตัวเองเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ได้หากมีคนที่เข้มแข็ง (Quality of Haman Capital) อย่างเยอรมันสวิสเซอร์แลนด์ หรือญี่ปุ่น
ฉะนั้นหลักสำคัญก็คือ “การศึกษา” ที่จะสร้างคน แล้วคนไปสร้างชาติ สุดท้ายแล้วคำตอบโจทย์ที่ไทยต้องตอบในวันนี้คือการสร้างการศึกษายังไงที่จะเตรียมพร้อมสู่ยุคต่อไป
การปฏิวัติในโลกที่ผ่านมาเริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเมื่อมีเครื่องจักรไอน้ำ จากนั้นรู้จักพลังงานไฟฟ้านำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคที่ 2 ถัดมาเป็นยุคของดิจิทัล และขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วงปลายของการยุค 3.0 ซึ่งยังมองไม่ออกว่าโลกอนาคต หรือยุค 4.0 จะเป็นอย่างไร แต่หลายคนมีการคาดเดาถึงสังคมอุดมปัญญา สังคมที่จะมีหุ่นยนต์ช่วยเราทำงานที่กำลังจะมาถึงนั้นจะต่างออกไปจากวันนี้อย่างสิ้นเชิง
ทั้งนี้ OECD เปิดเผยรายงานเมื่อปี 2016 เกี่ยวกับการคาดการณ์ถึงโลกอนาคตว่าจะประกอบไปด้วยเทคโนโลยีหลัก 40 กว่าตัว โดยแนวคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการรวมศาสตร์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน อาทิ ไบโอชิพ เมกะทรอนิกส์
ดังนั้นคำถามคือ แล้วระบบการศึกษาในยุคปัจจุบันจะสร้างคนที่พร้อมในยุค 4.0 ได้หรือไม่ระบบการศึกษายุค 3.0 ที่มุ่งการสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการวางแผนขั้นตอนการเรียนตั้งแต่เด็กจนโต และผลิตคนตามวิชาชีพที่พร้อมเกษียณในวัย 60 ปี
ในขณะที่การศึกษายุค 4.0 มีเครื่องมือที่เข้ามาช่วยเหลืออย่าง ChatGPT เอไอ และอื่นๆ ที่ช่วยค้นข้อมูลมหาศาลจากคลาวด์ได้ ในการเรียนรู้ที่ต้องทำคือการตั้งคำถามให้ถูก เพื่อหาคำตอบที่รอให้ค้นเจอ
“ดังนั้น ปตท. จึงมีความพยายามทดลองสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อยุค 4.0 ขึ้น ชื่อว่าสถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC ตั้งอยู่ที่วังจันทร์วัลเลย์ โดยสร้างหลักสูตรใหม่ที่มีต้นแบบจากรายงานเรื่องเทคโนโลยียุคใหม่ของโออีซีดี โดยตั้งเป้าให้สถาบันการศึกษาเพื่อการวิจัยแห่งนี้ขึ้นสู่ท็อป 50 ให้ได้ใน 20 ปี นอกจากนั้นยังตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่นำการวิจัยมาพัฒนาเป็นโครงการจริงและส่งเสริมทักษาะด้านการเป็นผู้ประกอบการ”
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมของโลกมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นสู่ระบบออโตเมชั่นและยุคถัดไปคืออุตสาหกรรมการบริการผนวกกับแนวคิดเชิงนวัตกรรม อาทิ โรงพยาบาล การเงิน ไอที ซึ่งเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นแล้วกับประเทศชั้นนำของโลกและเป็นอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยในยุคนี้
สำหรับประเทศไทยเองก็กำลังก้าวไปสู่แนวทางเดียวกัน ที่มีการกำหนดเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมสู่ S-Curve ใหม่ เพื่อให้หลุดพ้นจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นเนื่องจากเรากำลังเผชิญกับยุคสังคมสูงวัยที่แรงงานในระบบจะยิ่งลดลง ดังนั้นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมคือความต้องการคนที่มีทักษะขั้นสูงขึ้น ที่ยกระดับไปพร้อมกับอุตสาหกรรมยุคใหม่
“คำถามแรกที่นักลงทุนทุกคนสนใจคือเมื่อย้ายฐานการผลิตหรือศูนย์การวิจัยมาที่ไทยแล้วมีแรงงานที่รองรับหรือไม่ แรงงานไทยจบการศึกษาในระดับใดบ้าง มีจำนวนกี่คน”
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนในภูมิภาคที่ดูเหมือนว่าจะเทไปทางเวียดนาม ทั้งอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานราคาถูก รวมถึงอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ยังเชื่อว่าไทยสามารถแข่งขันได้ ด้วยจุดแข็งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และการเจาะกลุ่มตลาดเฉพาะไปที่อุตสาหกรรมสมาร์ทและออโตเมชั่น จะสามารถรองรับการลงทุนที่กำลังอยู่ในช่วงการย้ายออกจากจีนได้"
โดยลักษณะเด่นของผู้นำในยุคใหม่จะต้องประกอบด้วย 2 เรื่อง คือ เป็นคนใฝ่รู้ตลอดเวลา รับข่าวสารและอัปเดตเรื่องใหม่ให้เท่าทัน และมีความยึดมั่น
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซีจำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้นำยุคใหม่คือแนวคิดด้านนวัตกรรมโดยต้องเปิดกว้างในการเข้าใจแนวคิดของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีวิถีคิดต่างจากเจเนอเรชั่นของเรา ในวันหน้าจะยิ่งเกิดอาชีพใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน