ACT จับตา ‘รถไฟฟ้าสายสีส้ม’ ชี้อนุมัติผลประมูลไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น จับตาประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนต้องเร่งอนุมัติประมูล รฟม.รอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีประมูลครั้งแรก เผยตุลาการแถลงแล้วทั้ง 2 คดี ส่วนคดีประมูลครั้งที่ 2 รอศาลปกครองกลางนัดไต่สวน
การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้ามามากกว่า 3 ปี หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไปเมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 โดยระหว่างการประมูลมีการแก้ไขหลักเกณฑ์การประมูลและนำมาสู่การฟ้องศาลปกครอง จนกระทั่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยกเลิกการประมูลในเดือน ก.พ.2564
หลังจากยกเลิกการประมูลครั้งที่ 1 ไปแล้ว รฟม.เดินหน้าการประมูลครั้งที่ 2 และเปิดให้ยื่นซองไปเมื่อเดือน ก.ค.2565 และหลังจากนั้นประกาศให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูล
สำหรับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้ง 2 ครั้ง มีการฟ้องศาลปกครองรวม 3 คดี ประกอบด้วย
1.การประมูลครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ 2280/2563 คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 1 ขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากาษา
2.การประมูลครั้งที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ 580/2564 คดียกเลิกการประมูล ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าการยกเลิกประมูลผลจากการเปลี่ยนหลักเกณฑ์คัดเลือกในครั้งนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขณะนี้รอศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา
3.การประมูลครั้งที่ 2 คดีหมายเลขดำที่ 1646/2565 โดย BTSC ฟ้องประเด็นที่มีการกีดกันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ซึ่งเป็นคดีล่าสุดที่ศาลปกครองกลางรับไว้พิจารณา ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนพิจารณา ยังไม่มีกำหนดนัดไต่สวนเพิ่มเติม
การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มถูกจับตาจากหลายฝ่าย รวมถึงล่าสุดถูกยกขึ้นไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล การอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติตามมาตรา 152 เมื่อวันที่ 15 ก.พ.2566 รวมถึงที่ผ่านมานายสุรเชษฐ์เคยทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีรายบุคคลเพื่อชี้แจงถึงการประมูลครั้งที่ 2 ที่ทำให้รัฐเสียหาย 68,000 ล้านบาท
เคาะประมูลไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เปิดเผยว่า ขณะนี้ ACT ติดตามความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลล่าสุดตามที่ รฟม.ออกมาเปิดเผยถึงความคืบหน้าของข้อพิพาทในโครงการ โดยมีเป้าหมายที่จะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในประเด็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และยกเลิกการประมูลในการประมูลครั้งที่ 1 เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาผลการคัดเลือกประมูล และลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนนั้น ACT มองว่าเป็นอำนาจของ รฟม.ที่จะดำเนินการได้
“โครงการนี้ ACT มองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องลงนาม ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อน ซึ่งการที่ รฟม.จะรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเรื่องเปลี่ยนหลักเกณฑ์และการยกเลิกการประมูลชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย และนำมาประกอบการพิจารณาผลการประมูลในครั้งนี้ ส่วนตัวก็มองว่าเป็นอำนาจที่ รฟม.จะทำได้”นายมานะ กล่าว
รฟม.รอศาลปกครองสูงสุด
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า การประมูลดำเนินการเสร็จแล้ว และสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนตามาตรา 41 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งในขั้นตอนต่อไปจะรอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นผู้ฟ้องคดี มาประกอบเรื่องเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและ ครม.เพื่อเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน
สำหรับความคืบหน้าคดีการประมูลครั้งที่ 1 คดีการยกเลิกการประมูล โดยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2566 ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุด แถลงสรุปว่าการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งที่ 1 ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีอำนาจยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
รวมทั้งการใช้ดุลพินิจยกเลิกการคัดเลือกเป็นการแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นเพื่อให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ตามกรอบระยะเวลา อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนในการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว
ดังนั้นเมื่อการยกเลิกการคัดเลือกชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ตุลาการผู้แถลงคดีจึงเห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยเห็นควรให้ยกฟ้อง และคดีดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
ส่วนคดีการปรับเกณฑ์การประเมินข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2565 ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาคดีครั้งแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม.ดำเนินการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินดังกล่าวไม่จำต้องรับฟังความเห็นเอกชนใหม่ และไม่ทำให้ BTSC ได้รับความเสียหาย ไม่เป็นการละเมิดต่อ BTSC แต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างรอศาลปกครองสูงสุดพิพากษา
เตือนอย่าเร่งเสนอ ครม.
แหล่งข่าว กล่าวว่า คดีในศาลปกครองที่เกี่ยวข้องกับการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 มีเพียง 1 คดี คือคดีการกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่แน่ชัดว่าการที่กระทรวงคมนาคมจะเสนอผลการประมูลต่อ ครม.จะรอศาลปกครองพิจารณาคดีประมูลครั้งที่ 2 ให้สิ้นสุดหรือไม่ เพราะอายุของรัฐบาลใกล้สิ้นสุดแล้ว
แหล่งข่าว กล่าวว่า การที่จะพิจารณาเห็นชอบร่างสัญญาจากการประมูลครั้งที่ 2 ต้องพิจารณากระบวนการคัดเลือกในครั้งที่ 2 ที่ขณะนี้ถูกกล่าวหาว่า มีการกำหนดเงื่อนไขอันเป็นการกีดกันและเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดอย่างชัดเจน และอันเป็นความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกันการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ โดยมีการช่วยเหลือไม่ตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้เสนอราคารายหนึ่งจนเป็นเหตุให้ผู้เสนอราคาที่ขาดคุณสมบัติ มีคุณสมบัติเข้าไปร่วมแข่งขันเป็นคู่เทียบกับผู้เสนอราคารายอื่นได้
นอกจากนี้ ในประเด็นการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลครั้งที่ 2 ที่อาจทำให้เกิดสมยอมการประมูลหรือการฮั้วประมูลยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมโดยศาลปกครองได้รับไว้พิจารณา และพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ยังได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวกในความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูลและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157