ตัวเลขจีดีพีล่าสุดของสภาพัฒน์น่ากังวลแค่ไหน
เรียกได้ว่าช็อกตลาดพอสมควร สำหรับตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แถลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
ตลาดหุ้นไทย ซึ่งปรกติไม่ค่อยตอบสนองต่อตัวเลขสภาพัฒน์ เปิดติดลบทันที และปิดสิ้นวันลบไป 6.62 จุด
ก่อนที่ตัวเลขสภาพัฒน์จะออก ตลาดมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.2 ขณะที่ตัวเลขจริงออกมาร้อยละ 2.6
ตัวเลขสองตัวนี้อาจจะดูต่างกันไม่มาก แต่ต้องอย่าลืมว่า ตลาดมีตัวเลขจริงแล้ว 3 ไตรมาส ขาดเพียงไตรมาสสุดท้ายของปีเท่านั้น ถ้าดูเฉพาะไตรมาสที่ 4 ส่วนต่างระหว่างตัวเลขคาดการณ์ของตลาดกับตัวเลขจริงจะเท่ากับประมาณร้อยละ 2
คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ปรับฤดูกาลแล้วแบบไตรมาสต่อไตรมาส เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 จะลดลงจากไตรมาสที่ 3 ถึงร้อยละ 1.5
สภาพัฒน์อธิบายว่า ที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวได้ต่ำ เป็นเพราะการหดตัวของการส่งออกสินค้า ซึ่งในรูปของปริมาณติดลบถึงร้อยละ 10.5 ในไตรมาสที่ 4 จากที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่ 3
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเปรียบเทียบตัวเลขจริงที่ออกมากับตัวเลขคาดการณ์ของตลาดแล้ว การหดตัวของการส่งออกไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เพราะตลาดรับทราบข้อมูลการส่งออกที่ติดลบมาสักพักแล้ว
ตัวเลขคาดการณ์ของสำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ซึ่งออกมาในช่วงต้นปีนี้ได้รวมตัวเลขการส่งออกในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนของปี 2565 ไปแล้ว
ในมุมของสำนักวิเคราะห์ อีกตัวเลขหนึ่งที่ผิดคาดพอสมควร คือ ตัวเลขการใช้จ่ายภาครัฐ
แม้หลายฝ่ายจะคาดไว้อยู่แล้วว่ารายจ่ายภาครัฐอยู่ในทิศทางชะลอตัว จากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ที่ลดลง และจากผลของฐานสูงที่รัฐบาลใช้เงินมหาศาลในการดูแลเศรษฐกิจในปีก่อนหน้า แต่ข้อมูลที่ออกมาสะท้อนอัตราการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดด้วย
แต่เอาจริงๆ แค่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ที่ต่ำกว่าคาดไม่ควรจะมีผลมาก เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว และหลายประเทศก็ขยายตัวได้ไม่ดีในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้วเช่นกัน
ตัวเลขที่ผมคิดว่าสำคัญกว่า คือ ช่วงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ ที่ปรับลดลงจากร้อยละ 3.0-4.0 เป็นร้อยละ 2.7-3.7 ซึ่งก่อนหน้านี้ แทบไม่มีสำนักวิเคราะห์ไหนเลยที่คิดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะต่ำกว่าร้อยละ 3.0
นอกจากนี้ ค่ากลางของช่วงคาดการณ์ของสภาพัฒน์ที่ร้อยละ 3.2 ยังต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ร้อยละ 3.7 อย่างมีนัย ทั้งๆที่ตัวเลขใหม่นี้ใช้สมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 28 ล้านคนแล้ว
หากไปดูไส้ในของคาดการณ์ พบว่า สภาพัฒน์ให้การส่งออกสินค้าและการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยลบหลักของเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว ติดลบในปีนี้ทั้งคู่
โดยคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าติดลบร้อยละ 1.6 คาดการณ์การอุปโภคภาครัฐติดลบร้อยละ 1.5 และคาดการณ์การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.7
แต่การอุปโภคภาครัฐมีขนาดมากกว่าการลงทุนภาครัฐมากจึงทำให้คาดการณ์การใช้จ่ายรวมภาครัฐติดลบ ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวมความเสี่ยงที่ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์บอกว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 อาจจะล่าช้าได้
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นข่าวร้ายสำหรับเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ในระยะต่อไปจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นบางสำนักปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงตามสภาพัฒน์
อย่างไรก็ดี ผมยังมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย ด้วยเหตุผลหลักสองประการ
ประการแรก ผมคิดว่าสภาพัฒน์ประมาณการผลต่อเศรษฐกิจของการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศน้อยเกินไป โดยแม้สภาพัฒน์จะให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากถึง 28 ล้านคน
แต่ให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพียง 1.31 ล้านล้านบาท หรือ 4.68 หมื่นบาทต่อหัวนักท่องเที่ยว 1 คน ต่ำกว่าตัวเลขก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อหัว (ค่าเฉลี่ยปี 2560-2562)
ซึ่งหากคำนึงถึงราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นจากผลของเงินเฟ้อ และ “Revenge spending” ของนักท่องเที่ยวจีนที่อั้นมานาน ก็เป็นไปได้ที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้จะสูงกว่าที่สภาพัฒน์ประเมิน ยังไม่นับว่าล่าสุดมีสำนักวิจัยสำนักหนึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้จะมีถึง 30 ล้านคน
ประการที่สอง ผมคิดว่าอาจจะยังมี upside สำหรับการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 56 ในจีดีพีได้ ตรงนี้ต้องบอกว่าตัวเลขของสภาพัฒน์ไม่ได้แย่ไปหมด
เปิดเบื้องหลัง ‘เศรษฐกิจไทย’ ปี 65 ทำไมหักปากกาเซียน ‘GDP’ โตต่ำคาด!
จับสัญญาณ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ในไทย ‘สศช.’เฝ้าระวัง แม้โอกาสเกิดยังน้อย
“หุ้นไทย” ปิดตลาดลบ 6.62 จุด กลุ่มค้าปลีกฉุดดัชนีฯ สะท้อนจีดีพีต่ำคาด
ในข่าวร้ายยังมีข่าวดีแทรกอยู่ ผมเชื่อมั่นว่าตัวเลขการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วที่ออกมาร้อยละ 5.7 สูงกว่าคาดการณ์ของทุกสำนัก
ส่วนหนึ่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาดในไตรมาสที่ 4 สอดคล้องกับผลทวีคูณต่อการบริโภคภาคเอกชนของการท่องเที่ยวที่สูงกว่าผลทวีคูณของการส่งออกสินค้า (จากความเชื่อมโยงไปการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนที่สูงกว่า)
มองไปข้างหน้า หากรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในข้อ 1 สูงกว่าที่สภาพัฒน์คาด การบริโภคภาคเอกชนก็น่าจะขยายตัวได้สูงกว่าที่สภาพัฒน์คาดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งน้อยกว่าที่ผมคาดก่อนจะเห็นตัวเลขของสภาพัฒน์พอสมควร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเรารับมือกับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้ไม่ดีนัก
ทั้งนี้ ผมเห็นตรงกับสภาพัฒน์ว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญอันดับแรกของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก
ซึ่งทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯจะเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ และจำเป็นต้องติดตามใกล้ชิดครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย