ส่งออกไทยลุย "รัสเซีย" ฝ่ามรสุมสงครามปีที่ 2
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เผยปี 65 สงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบส่งออกไปรัสเซียติดลบ 43.3% มูลค่าหดเหลือ 585 ล้านดอลลาร์ สินค้ายานยนต์หนักสุดติดลบถึง 74.01% คาดปี 66 ยังคงผันผวนสูง
Key Points :
- สงครามทำให้การส่งออกไทยไปรัสเซียปีที่แล้วติดลบถึง 43.3%
- ปี 2565 ค่าขนส่งสินค้าทางอากาศปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 3 เท่า
- ผู้ส่งออกปรับการส่งสินค้าทางเรือผ่านท่าเรือวลาดิวอสต็อก
- รัสเซียต้องการชิ้นส่วนยานยนต์มากขึ้นหลัง ‘นิสสัน’ และ ‘ฟอร์ด’ ย้ายฐานออก
ภายหลังเกิดสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเดือน ก.พ.2565 ส่งผลให้หน่วยงานกรมศุลกากรของรัสเซีย ได้ประกาศหยุดเผยแพร่ข้อมูลตัวเลขมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกของแต่ละเดือน โดยอ้างว่าเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการคาดเดาและการประเมินตัวเลขที่ไม่สะท้อนมูลค่าจริง ซึ่งทำให้การประเมินมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของรัสเซียต้องอาศัยข้อมูลจากหน่วยงานของไทย ผ่านศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
ปี 2565 มูลค่าการส่งออกไทยไปรัสเซียมีสัดส่วน 0.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ โดยการส่งออกไทยไปรัสเซียในปี 2565 มีมูลค่า 585.44 ล้านดอลลาร์ หดตัวลง 43.30% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยสินค้าส่งออกไทยไปรัสเซีย 10 อันดับแรก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติกผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องกลน้ำมันสำเร็จรูปอาหารทะเลประป๋องและแปรรูปยางพารา ข้าว สิ่งปรุงรสอาหาร
ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ภาพรวมตัวเลขการส่งออกไทยไปรัสเซียหดตัวลงส่วนหนึ่ง เพราะก่อนเกิดการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน พบว่ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่เป็นสินค้ามูลค่าสูงและเคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทยในตลาดรัสเซียมาโดยตลอด ครองสัดส่วน 30% ของการส่งออกไทยทั้งหมดไปรัสเซีย
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เกิดการปฏิบัติการพิเศษทางทหารเมื่อต้นปี 2565 การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ของไทยไปรัสเซียหดตัวลงรุนแรง โดยหดตัวลง 74.01% จากมูลค่า 10,234.45 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือ 2,659.96 ล้านบาท ในปี 2565
รวมทั้งมีข้อสังเกตว่าในปี 2565 การส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียบางรายการขยายตัวชัดเจน เช่น ข้าวขยายตัว 372.94% น้ำมันสำเร็จรูป 62.77% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 61.14% และสิ่งปรุงรสอาหาร 41.33%
นอกจากนี้ มีหลายปัจจัยที่กระทบการส่งออกของประเทศคู่ค้ารัสเซีย ประกอบด้วย การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในปี 2565 ทำให้ประเทศคู่ค้ารัสเซียรวมถึงไทยจำนวนมากรับภาระค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไปรัสเซียทั้งทางเรือหรืออากาศสูงมาก เช่น ค่าขนส่งทางอากาศ โดยผักและผลไม้สด มีราคาที่สูงขึ้น เกือบ 3 เท่าจากค่าขนส่งที่เคยจ่าย
รวมทั้งเส้นทางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีปัญหาว่า โดยการขนส่งทางอากาศไม่มีบินตรงเข้าสู่รัสเซีย อีกทั้งการขนส่งทางเรือที่จะเข้าสู่ท่าเรือ ‘เมืองเซนส์ปีเตอร์สเบิร์ก’ (ผ่านประเทศยุโรป) ทำได้ยากมากขึ้น เพราะบริษัทขนส่งสินค้าโดยเฉพาะของชาติตะวันตกจำนวนมากปฏิเสธะขนส่งสินค้าเข้ารัสเซีย หรือแม้จะมีบริษัทขนส่งสินค้าบางรายรับขนส่ง แต่ติดปัญหาเมื่อสินค้าขนส่งหยุดพัก ณ ท่าเรือของประเทศตะวันตก ก่อนส่งเข้ามายังท่าเรือเมืองเซนส์ปีเตอร์สเบิร์กสินค้าอาจถูกกักไว้
กรณีล่าสุดตู้บรรจุสินค้า 43,000 ตู้ ที่จะส่งไปรัสเซียและเบรารุส ได้ถูกกัก ณ ท่าเรือเมืองรอตเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ทำให้ส่งตู้สินค้าไปท่าเรือเมืองเซ็นต์ปีเตอร์สเบิร์กไม่ได้
อย่างไรก็ดีผู้ส่งออกคู่ค้ารัสเซีย รวมถึงไทยเริ่มปรับตัวขึ้น โดยหันมาใช้เส้นทางขนส่งเข้ารัสเซียผ่านท่าเรือ ‘เมืองวลาดิวอสต็อก’ (ฝั่งตะวันออกของรัสเซียติดกับเอเชีย) ทำให้ปัญหาการขนส่งสินค้าเข้ารัสเซียทำได้สะดวกขึ้น เช่นเดียวกับการขนส่งสินค้าทางอากาศปัญหาเริ่มคลี่คลาย โดย Aeroflot สายการบินประจำชาติของรัสเซียกลับมาบินตรงสู่ไทยวันละหลายเที่ยวบิน ทำให้มีระวางขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้น อันจะเอื้ออำนวยต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะผักและผลไม้สด
ด้านระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ด้วยมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกทำให้รัสเซียถูกตัดออกจากระบบโอนเงินระหว่างประเทศ (Swift) ทำให้ผู้ส่งออกในประเทศคู่ค้าของรัสเซียรวมถึงไทยต้องประสบปัญหาการรับชำระเงิน
ทั้งนี้ผู้นำเข้ารัสเซียจำนวนมากมีการปรับตัว เช่น บางรายมีการเปิดบัญชีธนาคารนอกรัสเซีย เพื่อทำการโอนเงินระหว่างประเทศได้ จึงทำให้ปัจจุบัน ผู้นำเข้ารัสเซียจำนวนมากสามารถโอนชำระเงินเป็นเงินสกุลหยวน หรือดอลลาร์ ได้ และในขณะเดียวกันผู้ส่งออกในประเทศคู่ค้าของรัสเซียรวมถึงไทยมีการปรับตัว โดยหลายรายสามารถยอมรับเงินสกุลหยวนได้ ทำให้ปัญหาการชำระเงินระหว่างประเทศผ่อนคลายลง
สำหรับแนวโน้มการส่งออกไปรัสเซียปี 2566 ผู้นำเข้ารัสเซียและผู้ส่งออกไทยได้ปรับตัว ทั้งการขนส่งสินค้าและการชำระเงินระหว่างประเทศทำให้ปัญหาผ่อนคลายลง ประกอบกับ โดยปัจจุบันสินค้าของชาติตะวันตกจำนวนมากถอนตัวออกจากรัสเซีย ดังนั้น สินค้าไทยจึงมีโอกาสมากขึ้นที่จะส่งออกไปยังรัสเซีย
ส่วนรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ที่การส่งออกของไทยไปรัสเซียหดตัวรุนแรงในปี 2565 คาดว่าปี 2566 จะฟื้นตัวได้ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ตลาดรัสเซียต้องการสูง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่า บริษัทยานยนต์ของชาติตะวันตกและพันธมิตรหลายค่ายย้ายฐานการผลิตออกจากรัสเซียไปแล้ว เช่น บริษัท Ford ของสหรัฐ และบริษัท Nissan ของญี่ปุ่น
ขณะนี้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีท่าทีจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้ ประกอบกับสินค้าพลังงานซึ่งเป็นสินค้าที่รัสเซียส่งออกและทำรายได้สูงถูกใช้มาตรการคว่ำบาตร ซึ่งส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่ามูลค่าส่งออกสินค้าของไทยไปรัสเซียน่าจะยังคงมีความผันผวนสูง โดยสินค้าที่มูลค่าการส่งออกในปี 2565 อยู่ในแนวบวก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และสิ่งปรุงรสอาหาร น่าจะยังคงมีการขยายตัวในแนวบวกในปี 2566