ครม.ไฟเขียวยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดงเป็นโครงการพีพีพีต้นแบบด้านสาธารณสุข
ครม.อนุมัติหลักการโครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง2 ให้เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก 200 เตียง มีมาตรฐานโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม เป็นต้นแบบโครงการ PPP ด้านสาธารณสุขในอีอีซี
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 21 ก.พ. 66 ได้อนุมัติหลักการโครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง2 ให้มีศักยภาพเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก(M1)และมีมาตรฐานโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เสนอ ซึ่งโครงการฯ จะเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ด้านสาธารณสุข ช่วยเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซี เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน และยกระดับการให้บริการของโรงพยาบาลภาครัฐด้วย
ทั้งนี้ โครงการฯ เป็นการเพิ่มศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ อ.ปวกแดง จ.ระยอง ซึ่งมีประชากรอยู่กว่า 300,000 คน และปัจจุบันโรงพยาบาลปลวกแดงไม่สามารถรองรับได้ มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการได้แก่ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม, ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองส่งต่อจากโรงพยาบาลปลวกแดง ข้าราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ป่วยที่เข้าใช้บริการ Premium Service
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โรงพยาบาลปลวกแดง2 จะก่อสร้างบนที่ราชพัสดุ 29 ไร่ 3 งาน 11.7 ตรว.(กรมธนารักษ์อนุญาตให้ใช้พื้นที่แล้ว) ขอบเขตการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญได้แก่ 1) การก่อสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างเพื่อรองรับผู้ป่วยได้ 200 เตียง ประกอบด้วย อาคารผ่าตัด-อุบัติเหตุ 5 ชั้น, อาคารผู้ป่วยในพิเศษ 7 ชั้น, อาคารสนับสนุนบริการ 5 ชั้น, อาคารโรงไฟฟ้า-พักขยะ, อาคารบำบัด 200 ลูกบาศก์เมตร สิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ เช่นการถมที่ดิน สาธารณูปโภค 2)การจัดหาอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการดำเนินโครงการ 3)จัดหาบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรอื่นในการให้บริการ
โครงการฯ ใช้รูปแบบการลงทุนลักษณะร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) แบบ PPP Net Cost ระยะเวลาดำเนินโครงการ 50 ปี โดยเอกชนจะได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่รัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากการดำเนินงานทั้งหมด และเอกชนต้องเป็นผู้ออกแบบ ลงทุนและก่อสร้างทรัพย์สินที่เป็นสาระสำคัญแล้วโอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินดังกล่าวให้รัฐหลังจากก่อสร้างเสร็จ จากนั้นเอกชนจะมีสิทธิใช้ทรัพย์สินของโครงการตามสัญญาในการดำเนินงานเพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนด (Build-Transfer-Operate: BTO)
โดยข้อตกลงการแบ่งรายได้นั้น รายได้ของภาครัฐ ประกอบด้วยค่าตอบแทนในการใช้บริการที่ดินและอาคาร, ส่วนแบ่งรายได้ที่เป็นเงินสดและส่วนแบ่งรายได้กรณีผลประกอบการดีกว่าที่คาด ส่วนเอกชนจะมีรายได้จากค่าบริการทางการแพทย์ รายได้จากการให้บริการอื่นๆ เช่นร้านอาหาร ร้านค้า และมีผลตอบแทนการลงทุนของส่วนทุน อยู่ที่ร้อยละ 18.78
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนของโครงการฯ โดยรวมจะอยู่ที่ 2,647.37 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนของภาครัฐ 249.48 ล้านบาท ประกอบด้วยที่ดิน(ของกรมธนารักษ์) และอาคารผ่าตัด-อุบัติเหตุ 5 ชั้น(กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบภายใต้วงเงิน 232 ล้านบาทซึ่งได้รับงบผูกพันไว้แล้ว) ส่วนของเอกชน รวม 2,204.89 ล้านบาท ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างหลักและสิ่งปลูกสร้างประกอบประมาณ 326.15 ล้านบาท และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ 2,078.74 ล้านบาท ประเมินแล้วโครงการมีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยมีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 15.68 มีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ณ อัตราคิดลดร้อยละ 7.6 อยู่ที่ 1,631.64 ล้านบาท และอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 43.31 มีมูลค่าปัจจุบัน ณ อัตราคิดลดร้อยละ 7.6 อยู่ที่ 7,051.71 ล้านบาท
สำหรับ สถานะของโรงพยาบาลปลวกแดง2 จะเป็นหน่วยงานสาธารณสุขภายในสำนักงานสาธารณสุข จ.ระยอง ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการกำหนดระเบียบ วิธีปฏิบัติด้านต่างๆ ภายใต้กฎระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสัญญาร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน สำหรับโรงพยาลปลวกแดง2 ต่อไป ทั้งนี้ โครงการฯ ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วย เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น
ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงาน หลังจาก ครม. ให้การอนุมัติแล้ว สำนักงานอีอีซี จะดำเนินการประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน และดำเนินการร่างสัญญาร่วมลงทุนต่อไป เริ่มให้เอกชนยื่นเอกสารประกวดราคาในเดือนพ.ค. 66 และประกาศผลการคัดเลือกและสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาภายในเดือนมิ.ย. 66 และเสนอคณะอนุกรรกมารบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(กบอ.) และ กพอ. อนุมัติภายในเดือนก.ค. 66