เปิดอนุสัญญา ‘ใบขับขี่สากล’ ขับรถเที่ยวได้กว่า 102 ประเทศทั่วโลก
“กรมการขนส่งทางบก” เปิดบริการวอคอินทำใบขับขี่สากล รับเทรนด์เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ชวนเช็ครายชื่อจุดหมายปลายทางตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน 2 ฉบับ พบครอบคลุมใช้สูงสุด 102 ประเทศ
หลังจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้คลี่คลายลง การดำรงชีวิตและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับสู่สภาวะปกติ หลายๆ ประเทศได้มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงมีประชาชนเดินทางไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศเพื่อเรียนหรือทำงาน ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดให้ประชาชนที่สนใจทำใบขับขี่สากลเพื่อไปใช้ในการเช่ารถยนต์เพื่อท่องเที่ยวหรือขับรถยนต์ในต่างประเทศ โดยสามารถเข้ารับบริการ ณ สำนักงานขนส่ง ได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) หรือจองคิวล่วงหน้าผ่าน แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue
สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขับขี่สากลนั้น จะสามารถขับรถยนต์ในประเทศต่างๆ ได้ตามอนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนนที่ประเทศไทยได้เข้าร่วม ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามอนุสัญญา 2 ฉบับ ได้แก่
- อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ นครเจนีวา ค.ศ.1949 หรือ อนุสัญญาเจนีวา 1949
โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 1 ปี นำไปใช้ได้ใน 102 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา ออสเตรีย ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี นิวซีแลนด์ แอฟริกากลาง อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง เป็นต้น
- อนุสัญญาว่าด้วยการจราจรทางถนน ณ กรุงเวียนนา ค.ศ.1968 หรือ อนุสัญญาเวียนนา 1968
โดยใบอนุญาตจะมีอายุ 3 ปีนับแต่วันออกใบขับขี่สากล หรือเท่ากับอายุของใบขับขี่ภายในประเทศที่ผู้ถือมีอยู่ นำไปใช้ได้ 86 ประเทศ เช่น บาห์เรน อิหร่าน ฮังการี กรีซ จอร์เจีย ฟินแลนด์ บราซิล เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
สำหรับประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ เช่น ออสเตรีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ตุรกี สวีเดน รวมถึงประเทศไทย สามารถใช้ใบขับขี่สากลที่ออกตามอนุสัญญาเวียนนา 1968 เพียงฉบับเดียวได้
นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า ใบขับขี่สากลตามอนุสัญญาดังกล่าว ถือเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยทางถนนและมาตรฐานใบขับขี่รถของประเทศไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ทั้งยังเพิ่มโอกาสที่ใบขับขี่ระหว่างประเทศของไทยจะได้รับการยอมรับให้สามารถนำไปใช้ในต่างประเทศ และประเทศไทยก็สามารถยอมรับใบขับขี่ระหว่างประเทศที่ออกโดยประเทศที่เป็นภาคีตามอนุสัญญา
สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับใบขับขี่สากล
สามารถเข้ารับบริการ ณ สำนักงานขนส่ง ได้โดยไม่ต้องจองคิวล่วงหน้า (walk in ) หรือจองคิวล่วงหน้าผ่าน แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue และแจ้งรายชื่อประเทศที่ต้องการนำใบขับขี่สากลไปใช้ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบความเกี่ยวข้องในการร่วมเป็นภาคีตามอนุสัญญา หรือสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองที่ กรมขนส่งทางบก
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (กรณีคนไทย) มีดังนี้
1.หนังสือเดินทาง (ฉบับจริง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
2.บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
3.ใบขับขี่ไทย (5ปี,ตลอดชีพ,ขนส่ง) (ฉบับจริง) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
4.รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป ไม่เคลือบมัน (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
หลักฐานที่ต้องใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (กรณีคนต่างชาติ) ได้แก่
1.หนังสือเดินทางและวีซ่า (ต้องไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว เล่นกีฬา หรือเดินทางผ่านเมือง) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
2.ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ฉบับจริง) หรือใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) หรือใบอนุญาตทำงานอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Work Permit) ที่แสดงรายละเอียด ที่อยู่ และยังไม่สิ้นอายุ หรือหลักฐานที่แสดงว่าเป็นผู้ได้รับการตรวจลงตราพิเศษ (Smart Visa) ที่รับรองโดยสถานทูต หรือสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรระหว่างประเทศออกให้ (ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
3.ใบขับขี่ไทย (5ปี หรือ ตลอดชีพ) (ฉบับจริงพร้อมสำเนา) ซึ่งยังไม่สิ้นอายุ
4.รูปถ่าย ขนาด 2 นิ้ว 2 รูป ไม่เคลือบมัน (รูปถ่ายไม่เกิน 6 เดือน)
การทำใบขับขี่สากลสามารถมอบอำนาจได้ โดยเตรียมหลักฐานเพิ่มเติม ได้แก่
1.ใบมอบอำนาจ
2.บัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ(ฉบับจริงพร้อมสำเนา)
3.หลักฐานของผู้มอบอำนาจที่จะใช้ในการขอรับใบขับขี่สากล (สำเนาพร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)
ทั้งนี้ ใบขับขี่สากลตามอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มีค่าธรรมเนียมพร้อมค่าคำขอรวม 505 บาทเท่ากัน โดยสามารถยื่นขอทำใบขับขี่สากลได้ที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-5 หรือสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกแห่ง ทั้งนี้ การนำไปใช้ในต่างประเทศ กรมการขนส่งทางบกแนะนำว่าให้นำใบขับขี่ของประเทศไทยแสดงควบคู่กับใบขับขี่สากลด้วย