ครม.ไฟเขียวเพิ่มทุน ‘โปแตชอาเซียน’ ใส่เงินก้อนแรกศึกษา ‘เหมืองฯชัยภูมิ’
ครม.ไฟเขียวคลังเพิ่มทุนตามสัดส่วนเหมืองโปแตชชัยภูมิ ก้อนแรก 90 ล้านบาท เพื่อจ้างที่ปรึกษาประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ
รายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เปิดเผยว่าที่ประชุมครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอให้รัฐบาลเพิ่มทุนในโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน
เนื่องจากโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเชียน จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน ภายใต้ข้อตกลงพื้นฐานว่าด้วยโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (Basic Agreement on ASEAN Industrial Projects) โดยเจ้าของโครงการต้องลงทุน 60% ของเงินลงทุนทั้งหมด (Total Equity) และรัฐบาล
เจ้าของโครงการต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 1ใน 3 หรือ 20% ของเงินลงทุนนั้น โครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 62,000 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 70 ต่อ 30 ปัจจุบันบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) มีทุนจดทะเบียน 2.8 พันล้านบาท และกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 20% เป็นเงิน 561.1 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้สถานะโครงการในปัจจุบัน บริษัท อาเชียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) ได้เรียกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกประมาณ 450 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการทบทวนการศึกษาความเป็นไปได้ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการ
กระทรวงการคลังจึงจำเป็นต้องชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีกประมาณ 90 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นตาม Basic Agreement ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้วเห็นว่าการชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนแรกนี้มีความจำเป็นเพื่อให้ โครงการสามารถดำเนินงานต่อไปได้
สำหรับโครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเชียน จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการทำเหมืองใต้ดินแร่โปแตช และเกลือหิน เมื่อนำแร่โพแทชที่ได้จากการทำเหมืองเข้าสู่กระบวนการแต่งแร่ จะได้โพแทสเซียมคลอไรด์ (KC) ประมาณ 17 ล้านตัน และเกลือหินจากการทำเหมืองประมาณ7.7 ล้านตัน มูลค่าแหล่งแร่รวมทั้งสิ้นประมาณ 2 แสน ล้านบาท
ส่วนการพัฒนาเหมืองใต้ดิน โครงการได้เคยเตรียมการพัฒนาเหมืองใต้ดินในขั้นต้นเพื่อการผลิต แร่โปแตชไว้แล้ว โดยได้ขุดเจาะอุโมงค์แนวเอียง ขนาดความกว้าง 6 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 935 เมตร ลงสู่ใต้ดินที่ระดับความลึก 180 เมตร จากระดับผิวดิน เพื่อใช้เป็นอุโมงค์เข้าสู่เหมืองใต้ดินและเพื่อการขนส่ง และได้เจาะอุโมงค์แนวราบยาวประมาณ 1,000 เมตร
เข้าสู่ชั้นแร่เพื่อผลิตแร่ และได้ทดลองผลิตแร่โปแตชที่มี ห้องผลิตแร่ขนาดความกว้าง15 เมตร ยาว 60 เมตร สูง 25 เมตร จำนวน 3 ห้องผลิตแร่ ซึ่งแต่ละห้องผลิตแร่จะถูกกั้นด้วยเสาค้ำยันขนาดความกว้าง 20 เมตร โดยไม่พบปัญหาด้านวิศวกรรม และมีความพร้อมที่จะพัฒนา เป็นเหมืองใต้ดินต่อไป
ทั้งนี้โครงการเหมืองแร่โปแตชของอาเซียน ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility Study) จำนวน 2 ครั้งได้แก่ บริษัท Jacobs Solutions Inc. (เดิมชื่อ บริษัท Jacobs Engineering Group Inc.) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคนิคระดับมืออาชีพระหว่างประเทศโดยให้บริการด้านวิศวกรรม เทคนิคและการก่อสร้าง ได้ศึกษาความเป็นปได้ของโครงการในปี พ.ศ. 2538 พบว่าอัตราผลตอบแทนของโครงการ (Internal Rate of Return : IRR) เท่ากับร้อยละ 12.2
และ บริษัท ERCOSPLAN ประเทศเยอรมันนี่ เป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาและบริการด้านวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมแร่โปแตชและเกลือแร่ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการในปี พ.ศ. 2562 พบว่า IRR ของโครงการ เท่ากับร้อยละ 12.1 อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมแร่โพแทชได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาที่ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งต้นทุนและเทคโนโลยีการผลิต ปริมาณอุปสงค์และอุปทานในตลาด
ซึ่งปัจจุบันเกิดการขาดแคลนปุ๋ยและปุยมีราคาสูงขึ้น จึงจำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการบนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจึงต้องมีการเรียกเพิ่มทุนเพื่อนำเงินไปใช้ในการศึกษาความเป็นไปได้โครงการอีกครั้ง