นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น สำคัญไฉน
นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น สำคัญไฉน คงจะไม่มีใครกังขาความสำคัญของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัลนี้
แต่อาจจะมีข้อสงสัยอยู่บ้างว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น เป็นหน้าที่ของใครกัน ของภาควิชาการ ภาคเอกชน หรือภาครัฐ หรือใครควรมีบทบาทใด มากน้อยเพียงใด
เช่นเดียวกันกับกับอีกหลายๆ เรื่อง การขับเคลื่อนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น ควรจะต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยปกติแล้วผู้เขียนมักจะมองว่าภาครัฐมีหน้าที่วางกติกาที่เป็นธรรม อำนวยความสะดวก และไม่ทำตัวเป็นอุปสรรคแก่ภาคธุรกิจ แต่สำหรับเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ผู้เขียนเห็นว่าภาครัฐมีอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญมากคือเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเป็นผู้สนับสนุนทุนหรือแม้กระทั่งกระบวนการตั้งต้น เพื่อให้เกิดการวิจัย คิดค้น ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ
ธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์และนโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเมื่อปี 2564 ในรายงาน The Innovation Imperative for Developing Asia การศึกษาดังกล่าวพบว่า ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยยังมีสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development (R&D)) ต่ำกว่าที่ควร เมื่อพิจารณาจากระดับของรายได้ประชาชาติต่อหัว นอกจากนี้ เมื่อดูระดับการใช้นวัตกรรมของภาคเอกชนแล้ว พบว่าประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย
รายงานฉบับนี้ให้น้ำหนักกับการใช้และความแพร่หลายของเทคโนโลยี (technology diffusion) มากกว่าการคิดค้นนวัตกรรม เนื่องจากมูลค่าและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจจะเกิดจากการนำนวัตกรรมไปใช้จริง จากข้อมูลในรายงานฉบับนี้พบว่าสาเหตุที่ไม่มีการนำใช้เทคโนโลยีไปใช้ เกิดจากภาคธุรกิจไม่เห็นความจำเป็นหรือไม่มั่นใจในเทคโนโลยีนั้น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญ รองลงมาคือขีดความสามารถของภาคธุรกิจในการเรียนรู้และใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นปัญหาที่สัมพันธ์กับทุนมนุษย์ของประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่า นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศส่วนใหญ่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรม และไม่พัฒนาทุนมนุษย์เท่าที่ควร โดยได้เสนอแนะแนวทางยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ไว้ใน 3 หัวข้อใหญ่ ได้แก่
1. ปรับเป้าหมายของนโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและขจัดอุปสรรคในการใช้นวัตกรรมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจบริการ
2. พัฒนาทุนมนุษย์และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และ
3. ปฏิรูปหน่วยงานด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ
ดูเผิน ๆ อาจรู้สึกว่าประเด็นต่าง ๆ ที่รายงานการศึกษาบ่งชี้ไม่มีอะไรที่เราไม่รู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่การเจาะลึกลงไปในวิธีการบ่งชี้ปัญหา การเข้าใจความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ในระบบ และการจัดลำดับความสำคัญของการปรับปรุงพัฒนา ซึ่งธนาคารโลกได้พัฒนากรอบแนวคิดเพื่อการวิเคราะห์ Policy Effectiveness Review (PER) เพื่อ
1. วิเคราะห์และประเมินว่าการจัดสรรทรัพยากรและนโยบายของรัฐด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั้น ส่งผลลัพธ์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างที่คาดหวังหรือไม่ และ
2. ชี้จุดที่ควรได้รับการปรับปรุง และสิ่งที่ประเทศจะสามารถพัฒนาได้เพิ่มเติม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การนำเอากรอบแนวคิด PER มาใช้ประเมินในเชิงลึกกับประเทศไทย น่าจะเป็นประโยชน์ทีเดียว
การประเมินจะเริ่มจากการวิเคราะห์ Policy Mix ใจความสำคัญอยู่ที่คำว่า Mix นโยบายบางตัวอาจดูเหมือนดี แต่เมื่อถูกนำมาใช้ร่วมกับนโยบายอื่น อาจไม่เหมาะสม หรือส่งผลไปในทิศทางที่ไม่ตรงนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราคาดหวังให้นโยบายด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่งผลลัพธ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมควบคู่ไปด้วย ขั้นตอนต่อไปของการประเมิน มุ่งเน้นไปที่ผู้เกี่ยวข้องหรือผู้เล่นในระบบ และวิธีการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว ขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างมาก ความสับสนมักเกิดในขั้นตอนนี้อยู่เสมอ ส่วนขั้นตอนสุดท้ายเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของทั้งระบบ
ในปี 2566 นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้ร่วมมือกับธนาคารโลก เพื่อเริ่มการประเมิน Policy Effectiveness Review (PER) ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ของประเทศไทย ซึ่งผู้เขียนจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป