‘ไทยสมายล์บัส’ ยึดหัวหาดรถเมล์ เขี่ย ขสมก.ร่วงเบอร์สอง
“ไทย สมายล์ บัส” เร่งขยายขีดความสามารถธุรกิจ กางแผนปีนี้บรรจุรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการครบ 3,100 คัน ครอบคลุม 122 เส้นทาง เปิดรับสมัครพนักงานขับรถอื้อ ขณะที่ ขสมก.ร่วงเบอร์สอง มีเส้นทางให้บริการ 119 เส้นทาง
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) โดยเปิดหาผู้ประกอบการรายใหม่ 77 เส้นทาง และพบว่า บริษัท ไทย สมายล์ บัส ได้สิทธิในการเดินรถเมล์จำนวน 71 เส้นทาง และยังมีผู้ประกอบการเอกชนอีก 2 ราย ที่ได้รับอนุญาตอีก 6 เส้นทาง ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการตามใบอนุญาตเดิมที่ให้บริการเดินรถรวม 53 เส้นทาง ซึ่งในส่วนนี้ บริษัท ไทย สมายล์ บัส ได้เข้าไปร่วมบูรณาการกับผู้ประกอบการเดิม เพื่อช่วยจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้ามาให้บริการอีกประมาณ 45 เส้นทาง
อย่างไรก็ดี จากการปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ที่เกิดขึ้นนั้น ส่งผลให้ภาพรวมการให้บริการรถเมล์ในปัจจุบัน ประชาชนจะเห็นได้ว่ามีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ บริษัท ไทย สมายล์ บัส เข้ามาให้บริการครอบคลุมหลายเส้นทางทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมาก อ้างอิงข้อมูลตามที่กระทรวงคมนาคมเปิดเผย พบว่าในปี 2565 รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าของ บริษัท ไทย สมายล์ บัส ได้เข้ามาให้บริการแล้วกว่า 1,250 คัน ครอบคลุม 77 เส้นทางที่ได้รับสัมปทาน
ขณะที่ตามแผนในปี 2566 กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายจะสามารถผลักดันให้มีรถโดยสารพลังงานไฟฟ้าให้บริการอีก 1,850 คัน เป็นเส้นทางของผู้ประกอบการเดิม 45 เส้นทาง และเส้นทางที่ประชาชนนิยมใช้บริการ โดยรถร่วมเอกชนฯ มีจำนวน 122 เส้นทาง เพื่อขยายการบริการรถโดยสารสาธารณะที่มีคุณภาพ ใช้พลังงานไฟฟ้า รวม 3,100 คัน
สอดคล้องกับแผนงานของ ไทย สมายล์ กรุ๊ป ที่ประกาศความพร้อมขยายขีดความสามารถให้บริการผู้โดยสาร เปิดรับตำแหน่ง กัปตันเมล์ (พนักงานขับรถ) จำนวนมาก เพื่อรองรับให้บริการรถโดยสารพลังงานไฟฟ้ากว่า 3,100 คัน ใน 122 เส้นทางที่จะให้บริการในปีนี้ และยังเปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจ เพียงมีใบขับขี่ ท2 อายุ และวุฒิการศึกษาไม่จำกัด สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทยกับบริษัท
ขณะที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ข้อมูล ณ 31 ส.ค. 2565 มีจำนวนเส้นทางให้บริการรวม 119 เส้นทาง และมีจำนวนรถโดยสารให้บริการรวม 2,885 คัน แบ่งเป็น
- จำนวนรถใช้น้ำมันดีเซล 2,075 คัน
- จำนวนรถใช้ก๊าซธรรมชาติ 810 คัน
ส่วนอัตรากำลัง ณ วันที่ 31 ส.ค.2565 ขสมก.มีพนักงานองค์การ รวมถึงพนักงานอัตราจ้าง และ พนักงาน Outsource เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 12,671 คน โดยแบ่งเป็น
- พนักงานองค์การ จำนวน 12,642 คน
- พนักงานอัตราจ้าง จำนวน 17 คน
- พนักงาน Outsource จำนวน 12 คน
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบขีดความสามารถดำเนินงานระหว่าง บริษัท ไทย สมายล์ บัส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถร่วม ขสมก. และ ขสมก.ที่เคยเป็นหัวหอกของการให้บริการรถโดยสารประจำทาง หรือ รถเมล์ ปัจจุบันต้องยอมรับว่าวันนี้ผู้ให้บริการรถร่วม ขสมก.เริ่มยึดหัวหาด ทะยานขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของวงเงินรถเมล์ไทย มีเส้นทางเดินรถครอบคลุม 122 เส้นทาง อีกทั้งภายในปีนี้ยังจะมีการบรรจุรถโดยสารมาให้บริการประชาชนมากถึง 3,100 คัน
สำหรับบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2563 ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และลงทุนในกิจการขนส่งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง มีทุนจดทะเบียน 910 ล้านบาท โดยไม่มีประวัติส่งงบการเงินเลยนับตั้งแต่จดทะเบียนบริษัท
รวมทั้งผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด สัดส่วนการถือหุ้น 99.99% และที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย 2 ราย คือ
- นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา
- นางสาวปทิตา มิลินทจินดา
ทั้งนี้ นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา มีตำแหน่งเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด และก่อนหน้านี้เป็นผู้บริหารบริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด และผู้ก่อตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ของกลุ่มบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (EA)
ส่วนนางสาวปทิตา มิลินทจินดา ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (สายงานธุรกิจหลักทรัพย์) บริษัท หลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทดังกล่าวได้เข้าไปทำธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าร่วมกับ EA และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน)
ขณะที่บริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2565 ทุนจดทะเบียน 910 ล้านบาท มีจำนวนหุ้น 91 ล้านหุ้น มีผู้ถือหุ้น 3 คน ดังนี้
1.บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) 43.90 ล้านหุ้น
2.นายวิรวงศ์ มหาคุณ 50 หุ้น
3.นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา 45.69 ล้านหุ้น