นับหนึ่งเดินหน้า CEPA ไทย-ยูเออี เปิดประตูการค้าโลกตะวันออกกลาง

นับหนึ่งเดินหน้า CEPA ไทย-ยูเออี   เปิดประตูการค้าโลกตะวันออกกลาง

ครม.ไฟเขียวไทยเปิดโต๊ะเจราจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดเปิดโต๊ะเจรจานัดแรกได้ในไตรมาสแรกของปีนี้ เผยผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจะทำให้จีดีพีไทยขยายตัว 0.08 มูลค่า 318-357 ล้านดอลลาร์

เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการทำทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA)  ระหว่างไทยกับยูเออี หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งถือเป็นเอฟทีเอฉบับที่ 2 ต่อจากเอฟทีเอไทย-อียู ที่ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบในห้วงเวลา 2 เดือน (ม.ค.-ก.พ.66 ) ก่อนที่ครม.ชุดนี้จะโบกมือลา

CEPA ไทย-ยูเออี   ถือเป็นเอฟทีเอที่ไทยเห็นชอบให้เปิดการเจรจาเร็วที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 6-8ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งได้พบหารือ ดร.ธานี บิน อาเหม็ด อัล เซยูดี) กับรัฐมนตรีแห่งรัฐประจำกระทรวงเศรษฐกิจสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รับผิดชอบด้านการค้าต่างประเทศ โดยทั้ง 2 ประเทศได้ตกลงร่วมกันที่จะจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Comprehensive Economic Partnership Agreement: CEPA) ไทย-ยูเออี เพื่อให้การค้าและการลงทุนระหว่างกันขยายตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งตั้งเป้าจะสรุปผลการเจรจาโดยเร็ว

นับหนึ่งเดินหน้า CEPA ไทย-ยูเออี   เปิดประตูการค้าโลกตะวันออกกลาง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงขั้นตอนต่อจากนี้ว่า  ได้มีการประสานแจ้งให้ฝ่ายยูเออีทราบอย่างไม่เป็นทางการแล้ว  ซึ่งคงต้องรอการดำเนินกระบวนการภายในของยูเออีเพื่อนัดวันประกาศเปิดเจรจากันต่อไป  ซึ่งน่าจะเป็นในไม่ช้านี้  โดยรัฐมนตรีการค้าของยูเออีและไทย ตั้งเป้าจะให้ประกาศเปิดเจรจาในไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ส่วนประเด็นที่คาดว่า จะหารือกันในการเจรจา CEPA จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีการค้าสินค้า  การค้าบริการ  กฏระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น กฏแหล่งกำเนิดสินค้า  พิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า  มาตรการปกป้อง  มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช   มาตรการที่เกี่ยวกับอุปสรรคเทคนิคทางด้านการค้า  การค้าดิจิทัล  ทรัพย์สินทางปัญญา และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและการค้าในตะวันออกกลาง ซึ่งพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง และยังสามารถเป็นประตูการค้าสู่กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งมีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย บาห์เรน โอมาน กาตาร์ และคูเวต

ปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลางโดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีมูลค่า 20,824.22 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 73.90%  เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มีสัดส่วนการค้า คิดเป็น 3.53% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยเป็นการส่งออกจากไทยไปสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่า 3,420.23 ล้านดอลลาร์  และไทยนำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มูลค่า 17,403.99 ล้านดอลลาร์

สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องโทรสาร และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ เครื่องเพชรพลอย และเงินแท่งและทองคำ

สำหรับประโยชน์ที่ได้จะได้รับจากการจัดทำ CEPA ระหว่างไทยกับยูเออี จะทำให้จีดีพีไทยขยายตัว 0.08-0.09 %  มูลค่า 318-357 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการทำ CEPA ระหว่างกัน  ส่วนการส่งออกไทยไปยูเออี จะเพิ่มขึ้น 27.18 %  - 37.88 % มูลค่า 609-849 ล้านดอลลาร์

การนำเข้าของไทยจากยูเออีจะเพิ่มขึ้น 18.25 %-47.06 % มูลค่า 121-312 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มสินค้าไทยที่คาดว่าจะส่งออกไปยูเอีเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ ผลิตภัณฑ์ไม้ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติด โลหะที่ไม่ใช่เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือและเครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน

ด้านสินค้าที่ยูเออีที่คาดว่าจะส่งออกมาไทยเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันและไขมันที่ได้จากพืช ผลิตภัณฑ์โลหะ ยานยนต์และชิ้นส่วน นอกจากนี้สาขาบริการของไทยและยูเออีที่คาดว่าจะซื้อขายระหว่างกันเพิ่มขึ้น เช่น การขนส่ง และบริการด้านธุรกิจ

ปัจจุบันไทยมีเอฟทีเอ ทั้งหมด 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ  และมีเอฟทีเอที่อยู่ในระหว่างการเจรจา ประกอบด้วยประกอบด้วย  EFTA ประกอบด้วย 4 ประเทศ คือ สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ Asean- แคนาดา  เอฟทีเอ ไทย - ตุรกี  ไทย-ปากีสถาน และ ไทย -ศรีลังกาและ BIMSEC

นอกจากนี้ยังมีแผนทำเอฟทีเอ กับคู่ค้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มคณะมนตรีความร่วมมือรัฐประเทศอ่าวอาหรับหรือ GCC (ประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต โอมาน ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก หรือ Pacific Alliance ประกอบด้วย 4 ประเทศคือ ชิลี โคลอมเบีย เม็กซิโก และเปรู และกลุ่มประเทศแอฟริกา 55 ประเทศ 

https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1050737