“โลจิสติกส์” ไม่ซันเซ็ต SCGJWD ยึดเบอร์ 1 อาเซียน
ธุรกิจโลจิสติกส์ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นธุรกิจ Sunrise ที่เป็นเมกะเทรนด์โลก โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มขยายตัว SCG จึงเดินกลยุทธ์จับมือพันธมิตรเพื่อขึ้นเป็น No.1 ในภูมิภาค
Key Points
- SCG ใช้กลยุทธ์ร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจโลจิสติกส์ของตัวเอง
- SCGL ได้แลกหุ้นกับ JWD กลายมาเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์
- ดีลครั้งนี้ทำให้กลายเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
- มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้อยู่ที่ 50% ภายใน 5 ปี
การรวมกิจการระหว่าง บริษัทเอสซีจีโลจิสติกส์แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) และ บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD โดยวิธีแลกหุ้น (Share Swap) ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2566 โดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) และใช้ตัวย่อ “SJWD” ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
บรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทเอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGJWD ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุกิจ” ว่า SCGJWD จะปรับโครงสร้างภายในทั้งหมด โดยมีผู้บริหารร่วมจากทั้ง 2 ฝ่ายและการจัดตั้งกรรมการบริหารใหม่ หลังจากนี้บริษัทจะรับโอนกิจการทั้งหมด Entire Business Transfer (EBT) ของ SCGL คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปี 2566
การรวมกิจการของทั้ง 2 บริษัทเป็นการผสานจุดแข็งของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ที่มีกลุ่มเป้าหมายและความเชี่ยวชาญที่ต่างกันโดย JWD แข็งแกร่งในด้านการขนส่งเฉพาะด้าน (Specialist) ได้แก่ สินค้าควบคุมอุณหภูมิ สินค้าอันตราย และรถยนต์
ขณะที่ SCGL ให้บริการลูกค้าอุตสาหกรรมหลากหลายโดยเฉพาะ 3 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักของเอสซีจี ได้แก่ เหล็กและวัสดุก่อสร้าง กระดาษและบรรจุภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งขนส่งอาหารและสินค้าเกษตร โดยการรวมกิจการจะเพิ่มความสามารถในการเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร และขึ้นเป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนทันที
สำหรับแผนธุรกิจในปี 2566 หลังการรวมกิจการของ SCGJWD มีเป้าหมายหลักประกอบด้วย
1.การเพิ่มโอกาสการเติบโตของรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale โดยการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านต้นทุนและการขยายฐานลูกค้าเดิม
“ในอดีตระบบโลจิสติกส์ของภาคการผลิตเป็นจุดแข็งหนึ่งในการแข่งขัน ซึ่งแต่ละบริษัทจะจัดการด้วยตนเองเพื่อควบคุมต้นทุนการขนส่ง แต่การเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของลูกค้าตลาดอีคอมเมิร์ซ และการจัดการต้นทุนของอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันการให้บริการโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ทำให้ผู้ผลิตจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น และลดการเกิดความสูญเสียในการขนส่งทั้งขาไปและกลับ”
2.การเชื่อมโยงการให้บริการลูกค้าในอาเซียนอย่างไร้รอยต่อและสร้างความแข็งแกร่งการเติบโตในต่างประเทศ โดยการรวมกิจการทำให้บริษัทมีการดำเนินธุรกิจใน 9 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เมียนมาและจีนตอนใต้ รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญในการบริการที่เพิ่มขึ้น
“ตลาดโลจิสติกส์ในไทยมีผู้เล่นจำนวนมากทำให้การเติบโตเป็นไปแบบออแกนิกตามจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมราว 3-5% ต่อปี ขณะที่การขยายธุรกิจในต่างประเทศยังมีศักยภาพและโอกาสอีกมากในการขยายตัวโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน”
ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทดลองเส้นทางการขนส่งในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งการขนส่งสินค้าข้ามแดนธุรกิจลำเลียงเรือสินค้า (Barge) บริการขนส่งระหว่างประเทศทางเรือรวมทั้งมีแผนการขยายโลจิสติกส์ทางรางและทางอากาศเพื่อสร้างเครือข่ายการให้บริการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบที่มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจ
มุ่งเติบโตในตลาดต่างประเทศ
ความร่วมมือขยายธุรกิจในต่างประเทศจะหาพาร์ทเนอร์ที่เข้มแข็งในรูปแบบควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) ถือหุ้นร่วมกันซึ่งคาดว่าจะมีการเจรจา 2-3 ดีลในปี 2566 โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากในไทยและต่างประเทศที่ 80 ต่อ 20 เป็นครึ่งต่อครึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ โอกาสการเติบโตในตลาดต่างประเทศ SCGJWD จะเข้าไปบริการโลจิสติกส์รองรับการบริการของธุรกิจหลักของ SCG รวมทั้งเข้าไปลงทุนร่วมกับพันธมิตร ได้แก่
เวียดนาม โดย SCG มีโครงการลองเซินปิโตรเคมิคอลส์ (LSP) ที่เตรียมการเปิดโครงการ และมีการลงทุนของ SCGP ผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะเข้าไปบริการโลจิสติกส์ให้ แต่ใช่ว่า SCGJWD จะได้ลูกค้ากลุ่มนี้ตลอด เพราะถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะไปใช้บริการรายอื่นได้
เมียนมา ร่วมกับพันธมิตร Shwe Me Co.,Ltd.ผู้นำเข้าซิเมนต์และวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ เพื่อให้บริการขนส่งและคลังสินค้า
อินโดนีเซีย ร่วมลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์กับ PT Barito Pacific กลุ่มผู้ประกอบการโรงผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมีรายใหญ่
ลาว โดย SCG มีการลงทุนโรงงานผลิตปูนซีเมนส์ วัสดุก่อสร้างและเซรามิกส์ ซึ่งมีการส่งออกมาไทย ก็จะให้บริการโลจิสติกส์กับส่วนนี้ รวมถึงศึกษาการขนส่งทางรางในลาวที่จะเชื่อมถึงจีนตอนใต้
ฟิลิปปินส์ ร่วมมือกับบริษัทรอยัลคาร์โกจำกัดผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ครบวงจรรายใหญ่ของฟิลิปปินส์
จีน ร่วมกับ JUSDA Supply Chain Management บริษัทโลจิสติกส์ของกลุ่ม Foxconn ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของจีน
3.การขยายบริการโลจิสติกส์จากกลุ่มลูกค้าเดิม กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง กลุ่มสินค้ากระดาษและบรรจุภัณฑ์ และขยายผลไปยังกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค กลุ่มสินค้าอาหารแช่เย็นแช่แช่ง และกลุ่มสินค้าอื่น โดยเน้นบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม
4.การใช้ประโยชน์จากขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น (Scale) ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) จากการที่มีฐานลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเพิ่มอัตราการใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ (Utilization) และอำนาจต่อรองกับคู่ค้า เช่น ในการจัดหาน้ำมันการลดค่าใช้จ่ายทางการเงิน (Financing Cost) จากโครงสร้างทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากการจัดหาปริมาณมาก (Bulk Procurement) เช่น ประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายที่ทับซ้อน เช่น ค่าตรวจสอบบัญชี
“การแข่งขันของตลาดโลจิสติกส์ในไทยมีผู้เล่นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทุกคนอยากกระโดดเข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากลงทุนไม่สูง ทั้งยังเป็นธุรกิจแห่งอนาคต (Sunrise) ที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างต่อเนื่องรวมทั้งยังมีการพัฒนาโมเดลใหม่ใช้ระบบดิจิทัล”