นโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “เงื่อนไข”กติกาการค้าโลก

นโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “เงื่อนไข”กติกาการค้าโลก

Climate Change เงื่อนไขกติกาการค้าโลก เผย หลายประเทศเริ่มนำนโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ด้านสนค.แนะผู้ประกอบการไทยก้าวให้ทันกติกาการค้าโลกใหม่ พร้อม ศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อรับมือมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันเวทีการค้าโลกให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือพูดง่ายๆถนนทุกสายมุ่งไปสู่การมีส่วนร่วมในการดูแลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิศาสตร์หรือ Climate Change  ซึ่งการค้าจะมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยหลายประเทศเริ่มนำนโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมาใช้มากมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

ที่เห็นชัดเจนก็คือสหภาพยุโรปออกมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon border Adjustment Mechanism: CBAM)ที่จะเริ่มใช้กับสินค้า 7 กลุ่ม คือ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน และสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูทำจากเหล็ก รวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม (Indirect Emissions) โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะบังคับใช้มาตรการเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ม.ค. 2569 ที่จะต้องซื้อใบรับรอง CBAM

สหรัฐอเมริกา มีการเสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โดยจะเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าที่มีกระบวนการผลิตที่ส่งผลให้เกิดการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง มีอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล โดยกฎหมายของสหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2567

นโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “เงื่อนไข”กติกาการค้าโลก

นายพูนพงษ์  นัยนาภากรณ์  ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า  เวทีการค้าโลกในปัจจุบันให้ความสำคัญการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อที่จะใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและก่อให้ก่อมลพิษน้อยที่สุดและมีเริ่มมีการผลักดันไปสู่นโยบายต่าง ๆ มากมาย จะเห็นได้จากหลายประเทศที่เริ่มมีการใช้นโยบาย “การค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”มากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยต้องก้าวให้ทันกับนโยบายการค้าและมาตรฐานทางการค้าในการเกี่ยวสิ่งแวดล้อมเพื่อเตรียมรับและปรับตัว  

โดยขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจไทย กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำเป็นรายงานสรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย รวมทั้งเป็นการให้ความรู้กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการของประเทศคู่ค้าได้อย่างทันท่วงที

จากข้อมูลของกองนโยบายระบบการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์  เผยว่า  ประเทศฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับการค้าและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง โดยเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกแผนการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Roadmap to a Circular Economy) ในปี 2016 มีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน Circular Economy อย่าง ‘Business Finland’ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐสำหรับการระดมทุนเพื่อส่งเสริมด้านนวัตกรรม การค้า การลงทุน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของฟินแลนด์ ซึ่งรวมถึงการลงทุนด้านนวัตกรรมที่นำไปสู่ความยั่งยืน
 

นโยบายการค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “เงื่อนไข”กติกาการค้าโลก

ที่ผ่านมาได้ดำเนินการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจ Circular ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วในหลายบริษัท อาทิ Neste บริษัทน้ำมันแบบดั้งเดิม ที่ลดการใช้น้ำมันดิบในกระบวนการผลิตน้ำมัน ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตน้ำมันจากของเสียหรือของเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบทดแทนการผลิตแบบเดิม ทำให้ปัจจุบันบริษัท Neste มีกำไรจากธุรกิจพลังงานทดแทนถึง 94 % ของกำไรทั้งหมด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทุนนวัตกรรมแห่งชาติ Sitra ของประเทศฟินแลนด์ คาดว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศฟินแลนด์ มากกว่า 3 พันล้านยูโร ภายในปี 2030

ด้านประเทศฝรั่งเศส โดยจากข้อมูลโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติรายงานว่า อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้ามีสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน 2-8% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลก และก่อให้เกิดน้ำเสียราว 20% ของน้ำเสียทั่วโลก รัฐบาลฝรั่งเศสตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว และต้องการให้ผู้บริโภคในฝรั่งเศสเห็นความสำคัญ จึงได้มีประกาศ Decree 2022-748 ภายใต้กฎหมายต่อต้านของเสียเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Anti-Waste for a Circular Economy Law : AGEC) โดยกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากระบุข้อมูลไว้บนเสื้อผ้า เป็นข้อมูลการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ แหล่งวัสดุที่นำมาผลิตเสื้อผ้า ระยะเวลาในการขนส่ง และสีที่ใช้ในการย้อมผ้า ประกาศนี้มีผลบังคับใช้กับแบรนด์แฟชั่นทั้งหมดที่ขายเสื้อผ้า รองเท้า และสิ่งทอในฝรั่งเศส โดยเริ่มใช้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการมากกว่า 50 ล้านยูโร ในเดือนมกราคม 2023 และจะทยอยนำไปใช้กับบริษัทขนาดเล็กในช่วงปี 2024 และ 2025

อังกฤษเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีปัญหาจากขยะพลาสติก ด้วยการบริโภคที่มีการใช้ช้อนส้อมและจานแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากถึง 3.42 พันล้านชิ้นต่อปี ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก ซึ่งมีเพียง 10 % เท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมของพลเมืองอังกฤษ

โดย WRAP ซึ่งเป็นองค์กร NGO ด้านสภาพอากาศ เปิดเผยว่า ชาวเมืองอังกฤษเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม โดย 84% เห็นว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นหน้าที่ของทุกคน และ65% เห็นว่า ขยะพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญ จึงนำมาสู่การที่รัฐบาลอังกฤษประกาศห้ามใช้ Single-use plastic (SUP) หรือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยจะมีผลตั้งแต่ต.ค. 2023 เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและโดยเฉพาะสัตว์ทะเล ทั้งนี้ การประกาศดังกล่าวรวมถึงถาด ชาม ช้อนส้อม ไม้ลูกโป่ง และถ้วยโพลีสไตรีน ยังไม่รวมบรรจุภัณฑ์ ‘อาหารสำเร็จรูปบรรจุพร้อมขาย”

ประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเรื่องขยะเป็นอย่างมาก รัฐบาลมีความเข้มงวดในการกำหนดวิธีแยกขยะให้ถูกต้องก่อนทิ้ง ก่อให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแยกขยะที่เรียกว่า “นักเคลียร์ของ” ที่ชาวญี่ปุ่นได้หันมาใช้บริการเพื่อความสะดวกในการกำจัดสิ่งของปริมาณมากที่ไม่ได้ใช้แล้ว

โดยปัจจุบันมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจนี้มากกว่า 100,000 แห่ง ซึ่งของบางส่วนได้ถูกคัดไปจำหน่ายเป็นสินค้ามือสอง เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมักใช้ของอย่างทะนุถนอม ทำให้ของใช้ต่าง ๆ ยังคงมีสภาพไม่ต่างจากเดิม สินค้ามือสองจากประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นที่นิยมอย่างมากในตลาดต่างประเทศและขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดย The Reuse Business Journal เปิดเผยว่า ในปี 2021 ตลาดสินค้ามือสองของญี่ปุ่นมีมูลค่า 2.6988 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากปีก่อนหน้า (ปี 2020) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 3.5 ล้านล้านเยนภายในปี 2025 ซึ่งการขยายตัวของตลาดสินค้ามือสองแสดงถึงแนวโน้มที่ดีในการลดปริมาณขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ขณะที่ประเทศไทย จากข้อมูลการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษในปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีขยะอินทรีย์ เช่น เศษผัก เปลือกผลไม้ เศษอาหาร และใบไม้ ประมาณ 17.56 ตันของขยะทั้งประเทศ หรือคิดเป็น64% ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่องค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก คิดเป็นปริมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี จะกลายเป็นขยะเศษอาหาร (Food Waste) ทำให้สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 750 พันล้านดอลลาร์ และเป็นสาเหตุให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น  8-10 %

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีส่วนช่วยลดปัญหาขยะจากเศษอาหาร อาทิ แอปฯ Yindii และแอปฯ OHO โดยเป็นแพลตฟอร์มสำหรับสั่งอาหารคุณภาพดีที่เหลือจากการขายหน้าร้านอาหาร โรงแรม หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ในราคาที่ถูกกว่าราคาจริง 50-80%  โดยปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมแล้วกว่า 200-500 แห่ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นสาเหตุของโลกร้อนได้มากกว่า 50,000 กิโลกรัม

ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในเวทีหลัง  COP26 โดยประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065