นโยบายข้าวไทยกับการเลือกตั้ง “ผู้ส่งออก”หวังเพิ่มขีดแข่งขันระยะยาว
ผู้ส่งออกข้าว เผย ประชุมนบข.20มี.ค.คาดสรุปภาพรวมนโยบายข้าวรัฐบาล ฝากรัฐบาลใหม่วางนโยบายข้าวบิดเบือนกลไกตลาด พัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่มขีดความสามารถแข่งขัน วอนหยุดนโยบายประชานิยมข้าว
ประเทศไทยมีพื้นที่การเกษตรเกือบ 100 ล้านไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปี61.87 ล้านไร่ และนาปรัง7.34 ล้านไร่มีจำนวนครัวเรือนชาวนาเกือบ 5 ล้านครัวเรือน
คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) จะมีการประชุม ครั้งที่ 1ของปี 25666 ในวันที่20 มี.ค.นี้ ถือเป็นครั้งแรกของการประชุมปีนี้ และเป็นครั้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลจะหมดอายุ
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า คาดว่าน่าจะเป็นการประชุมเพื่อสรุปภาพรวมและโครงการต่างๆที่รัฐบาลชุดนี้การดำเนินการนโยบายข้าวในช่วงที่รัฐบาลชุดนี้บริหาร ไม่ได้มีวาระใดเป็นพิเศษ เพราะรัฐบาลชุดนี้ก็จะหมดวาระในวันที่ 23 มี.ค.นี้ นโยบายข้าวก็คงต้องรอรัฐบาลชุดใหม่ เข้ามาวางนโยบายข้าว
สำหรับ สถานการณ์ข้าวไทยในปีนี้มีแนวโน้มดี ส่งออกได้มากขึ้น สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลก็ยังคงเป็นเรื่องของค่าเงินบาท ซึ่งต้องการมีการการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาท ไม่ให้มีความผันผวนมาก เพราะการที่บาทแข็งหรือบาทอ่อนเกินไปไม่ได้ส่งผลดีต่อการส่งออก โดยเฉพาะการตั้งราคาซื้อและราคาขาย ที่ผ่านมาเงินบาทผันผวนมาก
“บางครั้งอ่อนค่าถึง 35 บาทต่อดอลลาร์ และสวิงกลับมาแข็งค่าที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลการตั้งราคาซื้อและราคาขาย ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งลดลง แม้ว่าขณะนี้ราคาข้าวของไทยจะสามารถแข่งขันกันคู่แข่งได้แล้ว”
โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 1 มี.ค. 2566 อยู่ที่ 470 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อยู่ที่ 453-457 ดอลลาร์ต่อตัน อินเดียอยู่ที่ 440-444 ดอลลาร์ต่อตันและปากีสถาน อยู่ที่ 458-462 ดอลลาร์ต่อตัน ส่วนราคาข้าวนึ่งไทยอยู่ที่ 484 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย อยู่ที่ 383-387 ดอลลาร์ต่อตันและปากีสถานอยู่ 508-512 ดอลลาร์ต่อตัน
จะเห็นว่าราคาก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ไทยก็กำลังถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวไปเรื่อยๆ แต่โชคยังดีที่ประเทศอิรักกลับมาซื้อข้าวจากไทยจำนวน 1.5-1.7 ล้านตัน ถ้าไม่มีอิรักมาซื้อข้าวไทยตัวเลขการส่งออกไทยก็ลดลงมาก และปีนี้ก็ยังมีคำสั่งซื้อมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปีที่ผ่านมาอินโดนีเซียก็กลับมาซื้อข้าวไทยหลังจากไม่ซื้อข้าวในตลาดโลกมาหลายปี ทำให้ปี 2565 ไทยส่งออกได้ 7.6 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,900 ล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตามเราคงไม่สามารถพึ่งพาตลาดอิรักได้เพียงตลาดเดียว
“ค่าเงินบาทถือเป็นปัจจัยหลักในการส่งออกข้าว รวมทั้งอำนาจการต่อรองของไทยน้อย ประกอบกับไทยเปิดการค้าข้าวอย่างเสรี ใครอยากขายในราคาเท่าไรก็ทำได้ทำให้มีการตัดราคากันเอง ฝ่ายลูกค้าก็ต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่ดีและพอใจ และการขายข้าวก็ให้สินเชื่อในลักษณะการขายข้าวไปก่อนและเก็บเงินภายในหลังภายกำหนดเวลา 90 วันหรือ 120 วันซึ่งหากว่าช่วงนั้นเงินบาทผันผวนก็ทำให้มีการต่อรองสูง“
ส่วนราคาข้าวเปลือกในประเทศถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยข้าวขาวก็แตะเกือบหมื่นบาทต่อตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิประมาณ 14,000-15,000 บาทต่อตัน ซึ่งราคาถือว่าสูงกว่าราคาประกันรายได้ ปีที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวในโครงการประกันรายได้เพียง 8,000 ล้านบาท มีบางปีที่จ่ายชดเชยสูงสุดเกือบ 80,000 ล้านบาท
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่ นโยบายข้าวที่รัฐบาลใหม่ควรผลักดันคือการไม่บิดเบือนกลไกราคาตลาด และต้องมีนโยบายการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆที่ตลาดต้องการ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในอุตสาหกรรมข้าวไทย เทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามที่มีข้าวพันธุ์พื้นนุ่มทำให้ขายข้าวให้กับประเทศฟิลิปปินส์ปีละ 3 ล้านตัน ทำให้เราสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวให้กับเวียดนามไป ดังนั้นนโยบายข้าวจำเป็นต้องคำนึงถึงจุดนี้ ซึ่งโครงการประกันรายได้อาจเป็นโครงการชั่วคราวหรือเป็นนโยบายที่ช่วยเหลือชาวนาในเรื่องของรายได้เพื่อให้เพียงพอกับรายจ่ายของครอบครัว
“สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องคิดต้องทำ คือการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามต้องการของตลาด ผลผลิตต่อไร่สูง ระยะเวลาเก็บเกี่ยวสั้นน้อย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย แต่รัฐบาลที่ผ่านมาดูแต่เรื่องราคาเป็นหลัก ทำเป็นนโยบายประชานิยม โดยการใช้ราคา แล้วเราจะไปแข่งขันได้อย่างไรยกเว้นรัฐบาลมีงบประมาณให้ได้ตลอด ซึ่งแต่ละปีเราใช้งบประมาณในนโยบายข้าวกว่าแสนล้านบาท ซึ่งทุกพรรคการเมืองมักจะออกมาใช้วิธีให้งบประมาณ แต่ไม่มีการวางนโยบายให้ชาวนาสามารถยืนได้ด้วยขาของตนเอง “
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า นโยบายข้าวต้องวางระยะยาวและต่อเนื่อง ทั้งเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าว การขนส่งโลจิสติกส์ ทั้งที่เราเป็นผู้ส่งออกแต่การขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำก็ไม่พัฒนา โดยเฉพาะเราเป็นประเทศส่งออกแต่เราไม่มีบริษัทเรือต้องพึ่งพาบริษัทเรือของประเทศอื่นตลอดเวลา ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรต้องคิด
“อย่าใช้นโยบายประชานิยมถ้าคิดเช่นนี้ก็ต้องมีงบประมาณจำนวนมากมาสนับสนุนตลอดเวลา ทุกวันนี้การส่งออกไทยต้องแข่งขันดังนั้นของต้องดี ราคาที่ลูกค้าพอใจและเป็นข้าวที่ลูกค้าต้องการ”
หากคำนวนครัวเรือนละ 5 คน ก็เท่ากับ ประชากร ชาวนา 25 ล้านคน หรือ หนึ่งใน สามของประชากรประเทศ ตัวเลขนี้มีไม่ได้มีผลในทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่โหวตเตอร์เกือบ 25 ล้านคนโดยประมาณ สามารถชี้เป็นชี้ตายการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในพ.ค.นี้ได้ ทำให้นโยบายที่เกี่ยวกับชาวนาเป็นเหมือนขุมทองซื้อใจคนไทยถึง1ใน3ของประเทศได้เลยทีเดียว