มิลค์บอร์ด เห็นชอบเสนอปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าโรงงาน 22.75 บาท
“มิลค์บอร์ด” มีมติเห็นชอบเสนอปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ และน้ำนมโค ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk board) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโคแลผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา นั้น
โดยในวันนี้ (14 มี.ค.66) คณะอนุกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ได้นำเสนอหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและหน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 รวมทั้งหารือในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบเรื่อง การทบทวนราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 รายละเอียด ดังนี้
1. เห็นชอบให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบ หน้าศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 19 บาท เป็น 21.25 บาท
2. เห็นชอบให้ปรับราคากลางรับซื้อน้ำนมโค หน้าโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม ปี 2566 จากกิโลกรัมละ 20.25 บาท เป็น 22.75 บาท
3. ให้คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอราคาน้ำนมโค และผลิตภัณฑ์นม พิจารณาทบทวนการกำหนดราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และ ณ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ของต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลา
4. ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาแนวทางในการควบคุมราคาปัจจัยการผลิตและราคาอาหารสัตว์
5. ให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมพาณิชย์) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ
6. ให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน พิจารณาการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นม (นมโรงเรียน) ให้เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งต้นทุนน้ำนมดิบและต้นทุนอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ และเสนองบกลางให้กับหน่วยจัดซื้อ
7. ให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการโคนม และผลิตภัณฑ์นมแจ้งมติให้คณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ ยังได้พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารสัตว์ รวมทั้งแนวทางอื่น ๆ ในการปรับลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถเลี้ยงโคนมได้อย่างยั่งยืน มิใช่เพียงการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ประกอบการและผู้บริโภคด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม จะนำเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างเร่งด่วนต่อไป