ไทยเตรียมถกเอฟทีเอไทย-อียู นัดแรก ก.ค.นี้
ไทย -อียู ประกาศเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู อย่างเป็นทางการ นัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส 2 ฝ่าย นัดแรก เดือนก.ค.นี้ ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี เผยสร้างแต้มต่อ ”สินค้า-บริการ-ลงทุน” ไทยกับ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายวัลดิส ดอมบรอฟสกิส (Mr.Valdis Dombrovskis) รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจและกรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ผ่านระบบ VC เพื่อเริ่มเปิดการเจรจานับหนึ่งเอฟทีเอ( FTA )ไทยกับสหภาพยุโรปว่า หลังจากที่ตนได้เดินทางไปกรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมาและนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ของ 2 ฝ่าย ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ ประกาศนับหนึ่งอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเจรจาทำเอฟทีเอ ระหว่างไทย-อียู สองฝ่าย เกิดจากความพยายามของไทยกับสหภาพยุโรปกว่า 10 ปี แต่ก็ติดขัดปัญหาในหลายเรื่อง
โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้ประกาศร่วมกันอย่างเป็นทางการนับหนึ่งการจัดทำเอฟทีเอ ไทย-อียู ตั้งเป้าเสร็จภายใน 2 ปี คือปี ค.ศ.2025 หรือ พ.ศ.2568 หัวข้อทั้งเรื่องการค้าสินค้า บริการและการลงทุนระหว่างกัน จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และไทยจะได้รับประโยชน์อย่างยิ่งจากการจัดทำเอฟทีเอครั้งนี้
“จากนี้จะเริ่มต้นการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสในเดือนก.ค.ปีนี้ โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพครั้งแรก ซึ่งอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจา และเมื่อได้ข้อตกลงครบทุกหัวข้อประเทศไทยจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาต่อไป เพื่อให้สัตยาบัน ฝั่งอียูก็ดำเนินการทางฝั่งอียูเช่นเดียวกัน และจะลงนามบังคับใช้ได้ “นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากเอฟทีเอไทย-อียูเมื่อมีผลบังคับใช้คือ 1.ภาษีการส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป 27 ประเทศในที่สุดจะเป็นศูนย์ สามารถแข่งขันด้านราคาและมีแต้มต่อกับประเทศที่ไม่ได้ทำเอฟทีเอกับอียู เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เสื้อผ้าสิ่งทอ อาหาร ยางพารา เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น 2.ภาคบริการ จะสร้างโอกาสในสาขาที่ไทยมีความเชี่ยวชาญในภาคบริการหลายด้าน เช่น ค้าส่ง-ปลีก การผลิตอาหารและการท่องเที่ยว เป็นต้น
3.การนำเข้าวัตถุดิบภาษีก็จะเป็นศูนย์เช่นเดียวกัน ภาคการผลิตของเราจะลดต้นทุนการผลิตได้ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และเคมีภัณฑ์ 4.การแลกเปลี่ยนการลงทุนระหว่างกันของทั้ง 2 ฝ่าย ไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรม 5. จะมีส่วนสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในไทย เพิ่มตัวเลขการลงทุน เพิ่มจีดีพีให้ประเทศ 6.ทำให้ไทยเพิ่มจำนวนเอฟทีเอ FTA มากขึ้นจากปัจจุบันมี 14 ฉบับกับ 18 ประเทศจะเพิ่มเป็น 15 ฉบับกับ 45 ประเทศในทันทีที่มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ 3 ในอาเซียนต่อจากเวียดนามและสิงคโปร์ที่อียูทำเอฟทีเอ
สำหรับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 4 ของไทย มีสัดส่วนมูลค่าการค้ากับไทย 7% ที่ไทยค้ากับโลก ในปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับอียู มีมูลค่า 41,038.1 ล้านดอลลาร์