หวั่นหางเลขแบงก์สหรัฐล้ม ผู้ส่งออกห่วงบาทผันผวนระยะสั้น
ภาครัฐ-เอกชน เกาะติดวิกฤติปิดแบงก์ในสหรัฐ ผู้ส่งออกห่วงเงินบาทผันผวนระยะสั้น เผยบาทแข็งขึ้นมาทันทีหลังปิด 3 แบงก์ หวั่นกระทบจิตวิทยา เศรษฐกิจชะลอต่อเนื่อง ด้าน ส.อ.ท.ชี้ผู้ประกอบการกังวลเศรษฐกิจโลกกระทบธุรกิจมากขึ้น
Key Points
- ภาครัฐและภาคเอกชนเร่งประเมินผลกระทบจากการปิดธนาคารในสหรัฐ 3 แห่ง
- ถึงแม้ไม่มีผลต่อระบบการเงินของไทย แต่เริ่มมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนทันที
- หอการค้าไทยประเมินว่าเงินบาทจะแข็งค่าในระยะสั้นทำให้ผู้ส่งออกต้องเตรียมแผน
ถึงแม้จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์การปิดสถาบันการเงินในสหรัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารซิลเวอร์เกท , ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB) และธนาคารซิกเนเจอร์ แต่ยังมีความกังวลจากทั่วโลกที่ยังต้องเกาะติดสถานการณ์เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด
ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบรายงานต่อรัฐบาล โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ไทยไม่มีธุรกรรมกับธนาคารสหรัฐที่มีปัญหา ทำให้ผลกระทบต่อระบบการเงินไทยมีจำกัด และยังได้จับตาคริปโทเคอร์เรนซีที่เกี่ยวข้องกับธนาคารสหรัฐที่ปิดตัว
ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ประเมินว่าจะมีสถานการณ์เงินดอลลาร์ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและส่งผลให้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้ในระยะสั้น
การประเมินดังกล่าวสอดคล้องกับภาคเอกชนทั้งหอการค้าไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่เห็นว่าเงินบาทมีโอกาสผันผวนในระยะสั้น ในขณะที่สมาชิกเริ่มกังวลผลกระทบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีการปิดธนาคารในสหรัฐเพิ่มขึ้นอีกจะทำให้ความเชื่อมั่นเริ่มกลับมาดีขึ้น
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การปิดธนาคารในสหรัฐทำให้มีเกิดความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้น โดยสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นกับการที่สหรัฐจะออกมาตรการมาสร้างความมั่นใจให้กับตลาดเงินได้มากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นใจเป็นหลัก และหากหลังจากนี้ไม่มีเหตุการณ์การปิดธนาคารมาเพิ่มเติมก็คาดว่าจะทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น แต่ถ้านักลงทุนยังไม่มั่นใจความผันผวนของค่าเงินก็ยังคงมีต่อไป
“ความผันผวนของค่าเงินบาทคงไม่ใช่แค่เรื่องการปิดธนาคาร SVB นี้เพียงอย่างเดียว เพราะความผันผวนของค่าเงินบาทเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 2-3 ปี กระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย แต่หากว่าค่าเงินของคู่ค้าของไทยมีความผันผวนขึ้นลงเหมือนกันจะทำให้การค้าไม่ยุ่งยากมาก และไม่ได้ความได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะทิศทางของค่าเงินไปในทิศทางเดียวกัน”
ห่วงเงินบาทแข็งค่าเหนือคู่แข่ง
ทั้งนี้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปได้ประเมินสถานการณ์ค่าเงินหลังจากหรัฐปิดธนาคาร 3 แห่ง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.54 บาท (14 มี.ค.) จาก 35.06 บาท (10 มี.ค.)
รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งด้านการส่งออก พบประเทศที่เงินแข็งค่า ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และจีน ส่วนประเทศที่อ่อนค่า ได้แก่ ยูโรโซน อังกฤษ ออสเตรเลียและซาอุดิอาระเบีย
เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเพื่อนบ้าน พบประเทศที่เงินแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีอยู่ 2 แนวทาง คือ 1.การประกันความเสี่ยงค่าเงิน 2.ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำข้อตกลงกับ 4 ประเทศ ในการทำธุรกรรมทางเงินโดยการใช้เงินสกุลท้องถิ่น ซึ่งในอนาคต ธปท.ควรทำข้อตกลงแบบนี้เพิ่มกับหลายประเทศ
“แนวทางดังกล่าวทำให้ผู้ส่งออกไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์วิกฤติสถาบันการเงินในสหรัฐ ที่ส่งผลทางจิตวิทยาทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังคงยืดเยื้อ”
ส.อ.ท.เกาะติดปัญหาสหรัฐ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลกระทบจากการล้มละลายของ SVB ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับสถานการณ์ของสถาบันการเงินไทยมีความเชื่อมั่นว่ายังคงแข็งแกร่งสะท้อนจากผลกำไรที่ดีในปีที่ผ่านมารวมทั้งบทเรียนจากวิกฤติต้มยำกุ้งทำให้มีการวางแผนอย่างรัดกุมและระมัดระวังในการบริหารงาน
“ภาคอุตสาหกรรมยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ล่าสุดกรณีที่ธนาคารในสหรัฐปิดตัวลง 3 แห่ง ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งสร้างความตกใจต่อตลาดทุนและตลาดเงินอย่างมาก โดยสาเหตุหลักเกิดจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟดที่ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นมุ่งไปที่ 5% ซึ่งจะสร้างความเปราะบางให้ธนาคารทั่วโลก โดยเฉพาะธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก”
รวมถึงภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงิน โดยตั้งแต่เดือน ต.ค.2565 ถึงเดือน ม.ค.2566 ที่การส่งออกติดลบต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ลดคาดการณ์การส่งออกปี 2566 จากเดิมขยายตัว 1-2% เป็น 0 ถึง -1% จากปีก่อน โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยครึ่งปีแรกจึงมีแนวโน้มผันผวนในลักษณะขาลงไปตามสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
กังวลเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
นอกจากนี้ ส.อ.ท.ได้รายงานผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ระดับ 96.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนก่อนหน้า สูงสุดในรอบ 47 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2562 ก่อนการระบาดของโควิด-19 สะท้อนความเชื่อมั่นที่กลับคืนมาของผู้ประกอบการ โดยค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ
ทั้งนี้ หากดูรายละเอียดประเด็นที่ผู้ประกอบการมีความกังวลต่อผลกระทบทางธุรกิจ พบว่ากังวลประเด็นเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้น โดยในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีกลุ่มตัวอย่าง 75% ที่กังวลเรื่องนี้
“พาณิชย์”ห่วงบาทแข็งค่าระยะสั้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศไทยในระยะสั้น สนค. ประเมินว่า ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐฯ และเกิดการโยกย้ายเงินของนักลงทุนมายังตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย จึงส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่า และผลักดันให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่า โดยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 66 ค่าเงินบาทได้ปรับตัวแข็งค่า ปิดอยู่ที่ระดับ 34.56 บาทต่อ จึงทำให้ช่วงนี้ผู้ส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งจะมีผลต่อราคาสินค้าส่งออกที่แพงขึ้นในมุมมองของคู่ค้า
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของการนำเข้าอาจได้รับประโยชน์จากค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าพลังงาน ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป จึงจะสรุปผลได้ว่า กรณีนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงานและภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ หรือไม่ ซึ่งจะมีผลต่อแนวโน้มการส่งออกของไทย เนื่องจากเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนประมาณ 16% ของการส่งออกทั้งหมด
“สนค.แนะนำให้ผู้ประกอบการทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้า คอยติดตามการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อวางกลยุทธ์การทำธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินในระยะสั้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป”นายพูนพงษ์ กล่าว