เตรียมรับมือความเสี่ยงระดับโลก พรรคการเมืองพร้อมหรือยัง

เตรียมรับมือความเสี่ยงระดับโลก พรรคการเมืองพร้อมหรือยัง

นโยบายเศรษฐกิจมีแล้ว แต่นโยบายที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนถึงขั้นถดถอยหรือรับความเสี่ยงจากระบบการเงินการธนาคารโลกมีหรือยัง

ในโลกทุนนิยมยุคโลกาภิวัตน์วิกฤติใดจะน่ากลัวเท่าวิกฤติการเงิน ราคาหุ้นสหรัฐดิ่งเหวไม่กี่ชั่วโมงลามมาเอเชีย ซึ่งไทยก็ต้องโดนตามระเบียบ

หนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุธนาคารสหรัฐล้มละลายล่าสุดปัญหาลามมายุโรปถึงเครดิตสวิสแต่โชคยังดีที่ไหวตัวทัน กระนั้นระยะนี้ สถานการณ์การเงินโลกยังเป็นที่ต้องจับตา เรียกได้ว่ากลบสถานการณ์อื่นไปหมด ตั้งแต่สงครามรัสเซีย-ยูเครน นายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ ซาอุดีอาระเบียกลับมาเปิดสัมพันธ์การทูตกับอิหร่าน เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือสหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย หรือแม้แต่เครื่องบินรัสเซียชนโดรนสหรัฐ

ทั้งหมดนี้ต้องหลบไปก่อน ขอลุ้นสถานการณ์แบงก์ล้มเพราะเกรงจะเหมือน "เลห์แมน บราเธอร์ส" ผู้จุดชนวนวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี 2551 

 

 

ประเด็นที่ต้องจับตาเมื่อคืนนี้คือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) กว่ากรุงเทพธุรกิจฉบับนี้จะอยู่ในมือผู้อ่าน หรือบางคนอ่านข่าวออนไลน์ก็คงทราบตัวเลขกันแล้วว่าเป็นอย่างไร

ที่ต้องลุ้นต่อคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 22 มี.ค. เพราะสถานการณ์ภาคการเงินที่อยู่ในสภาพลูกผีลูกคน เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยแรงก็สร้างความบอบช้ำเพิ่มเติมให้ธนาคาร จะไม่ขึ้นก็เงินเฟ้อสูง และไม่ว่าจะออกทางไหนความเดือดร้อนต่อสาธารณชนย่อมบังเกิด

ไทยเองก็ประมาทไม่ได้ แม้สมาคมธนาคารไทยบอกว่า ไม่ได้มีผลกระทบมากนัก เพราะสถาบันการเงินไทยแข็งแกร่งสูง ไม่ว่าจะเป็นฐานะการเงินหรือการสำรองหนี้เสีย สัดส่วนการลงทุนหรือกู้เงินจากต่างประเทศมีน้อย ฟังแล้วเบาใจได้เปลาะหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด ด้วยโลกที่เชื่อมถึงกันหมดเกิดอะไรนิดเดียวในประเทศหนึ่งลุกลามเร็วยิ่งกว่าไฟไหม้ฟาง 

 

 

ปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือ บรรดากูรูบอกว่า เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะถดถอยเร็วขึ้น เรื่องนี้พูดกันมาหลายเดือนแล้ว นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดว่า น่าจะถดถอยครึ่งหลังของปีนี้

แต่เมื่อดูสัญญาณผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ปรับตัวลง ราคาน้ำมันและราคาหุ้นที่ทรุดตัวอย่างรุนแรง ตลอดจนภาวะผันผวนที่พุ่งขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนกำลังหวั่นวิตก เศรษฐกิจสหรัฐกำลังจะถดถอยในเวลาอันใกล้ จึงเป็นอีกครั้งที่ต้องมาฉุกคิด

ในเมื่อเราจะมีการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.นี้ พรรคการเมืองเดินหน้าแสดงวิสัยทัศน์ ประชันนโยบายกันแล้ว นโยบายเศรษฐกิจมีแล้ว แต่นโยบายที่จะรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวนถึงขั้นถดถอยหรือรับความเสี่ยงจากระบบการเงินการธนาคารโลกมีหรือยัง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ถ้าไม่มีเตรียมการไว้แต่เนิ่นๆ ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาระวังจะรับมือไม่ทัน