‘ไทย’ ลงนาม ‘OECD’ขยายเวลา ‘Country Programme’ 3ปี ชี้ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ
ไทยลงนามร่วม OECD ต่ออายุโครงการ Country Programme (CP)ระหว่างรัฐบาลไทยกับ OECD ไปจนถีงปี 2568 ต่อยอดความร่วมมืหลายด้าน ช่วยยกระดับเศรษฐกิจ ความสามารถแข่งขันประเทศ
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดนุชา พิชยนันท์เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายธนา เวสโกสิทธิ์ เอกอัครราชทูตณ กรุงปารีส
พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD ในการดำเนินโครงการ CP ระยะที่2 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกันที่ต่อยอดมาจากความสำเร็จของโครงการ CP ระยะที่1 ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในช่วงปี 2561- 2564
นายสุพัฒนพงษ์ และนายมาเทียส คอร์มันน์ เลขาธิการ OECD ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการต่ออายุโครงการ Country Programme (CP)ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
การดำเนินโครงการ CP ระยะที่ 2 เป็นความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2566- 2568) มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ไทยเข้าถึงองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD ได้อย่างต่อเนื่อง โดยเป็นความร่วมมือใน 4 สาขาหลัก ได้แก่
1)ธรรมาภิบาล
2)สภาพแวดล้อมทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน
3) ความครอบคลุมทางสังคมและการพัฒนาทุนมนุษย์
และ 4)การฟื้นฟูสีเขียว ประกอบด้วย 20โครงการย่อย และมีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องรวม 19 หน่วยงาน
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมศักยภาพและการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น อันจะทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้การเป็นสมาชิก OECD ได้มากยิ่งขึ้น
ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะฝ่ายไทย ได้ประชุมหารือร่วมกับเลขาธิการ OECD พร้อมด้วยผู้บริหารและคณะเอกอัครราชทูตประจำOECD เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและ OECD ในช่วงต่อไป
ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาประเทศของไทยในหลายด้าน อาทิ การปฏิรูประบบราชการ การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การพัฒนานโยบายการแข่งขันทางการค้า การศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน โดยความร่วมมือดังกล่าวจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนต่าง ๆ เกิดการขับเคลื่อนและนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ CP ระยะที่ 2 ได้ที่