TDRI หนุนกระจายอำนาจ ‘ท้องถิ่น’ เพิ่มงบประมาณ
TDRI หนุนกระจายอำนาจท้องถิ่นทั้งการคลัง-การเมือง รองรับภารกิจท้องถิ่นมากขึ้นในอนาคต ชี้ตัวเลขสัดส่วนจัดสรรงบลงท้องถิ่นต่ำพียง 8% ของจีดีพี ขณะที่หลายประเทศให้ 20-40%
กรุงเทพธุรกิจ เนชั่นทีวี และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “ท้องถิ่น มั่งคั่ง ประเทศมั่นคง” เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2566 เพื่อนำเสนอแนวทางการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “บทบาทท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” ว่า การกระจายอำนาจลงไปท้องถิ่นมี 2 มิติสำคัญ คือ 1.การกระจายอำนาจทางการทางคลัง 2.การกระจายอำนาจทางการเมือง
สำหรับข้อสังเกต คือ การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในไทยจะมีทั้งช่วงเวลาที่มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นและลดน้อยลง โดยช่วงที่มีการดึงอำนาจกลับมาในส่วนกลางมากขึ้น คือ ช่วงหลังจากที่มีการรัฐประหาร ดังนั้นเมื่อไทยเข้าสู่โหมดของประชาธิปไตยการกระจายอำนาจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ความสนใจ และติดตามแนวนโยบายของแต่ละพรรค โดยเฉพาะปัญหาการทุจริตของท้องถิ่นบางพื้นที่ไม่ควรไปยับยั้งเรื่องการพัฒนาและการกระจายอำนาจลงไปยังท้องถิ่นในภาพรวม
ทั้งนี้ประเด็นการกระจายอำนาจทางการคลังไปสู่ท้องถิ่นพบว่าไทยมีสัดส่วนภาษีท้องถิ่นต่อรายได้รวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมทั้งการจัดสรรรายได้ให้กับท้องถิ่นน้อยมากเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โดยอยู่ที่ 8% ขณะที่หลายประเทศมีสัดส่วนสูง เช่น ญี่ปุ่น 42% จีน 47.5% และอินเดีย 32.4% ซึ่งสัดส่วนตรงนี้ควรจะเพิ่มมากขึ้น
++ หนุนเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่น
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นตั้งแต่ในอดีตมีการกำหนดไว้ที่สัดส่วนงบส่วนกลาง 67% และงบท้องถิ่น 33% ซึ่งสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นยังไม่สามารถจัดสรรได้ โดยปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 27-28% ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจของท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน
ทั้งนี้สิ่งสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น คือ การกระจายอำนาจทำให้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ รวมทั้งคาดหวังการพัฒนาคนในแต่ละพื้นที่ให้เท่าเทียมมากขึ้นได้ โดยประเด็นในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการแก้ไขความยากจนเรื้อรังในพื้นที่ ซึ่งในเขตชนบทยังมีปัญหาในเรื่องความยากจนเพิ่มขึ้นแม้เศรษฐกิจจะดีขึ้น
โดยข้อมูลในช่วงปี 2016-2018 พบว่าไทยมีคนจนเรื้อรังมากขึ้นแม้ว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น โดยการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ท้องถิ่นทำได้ดีกว่าเนื่องจากอยู่ใกล้ประชาชน ชุมชนและท้องถิ่น
“ความยากจนในเชิงพื้นที่พบว่ามีหลายจังหวัดที่กระจุกตัวความยากจน และมีเรื่องการกระจายความยากจนเรื้อรังไปยังภาคใต้และภาคเหนือด้วย ซึ่งต่างจากภาพอดีตที่ปัญหาการยากจนเรื้อรังอยู่ในภาคอีสานบทบาทของการกระจายอำนาจท้องถิ่นจึงควรแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังในแต่ละพื้นที่ด้วย”
++ แนะ อปท.เพิ่มบทบาทเชิงพัฒนา
นอกจากนี้หน้าที่ อปท.ถือว่าเป็นองค์กรที่มีบทบาทในพื้นที่มากกว่ารัฐบาลในส่วนกลาง ซึ่ง อปท.ควรมีบทบาทในการพัฒนาคน โดยการเพิ่มศักยภาพของคนในพื้นที่ที่ต้องทำการศึกษา การพัฒนาทักษะแรงงาน ทักษะผู้ประกอบการ สาธารณสุข สวัสดิการประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ท้องถิ่นจะมีบทบาทในการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต
ดังนั้นการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่นทำให้เกิดการตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง ทำในเรื่องการบูรณาการได้ดีกว่าส่วนกลาง สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นและพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วสามารถมีส่วนร่วมและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากกว่า และมีความพร้อมเรื่องของงบประมาณ และมีกฎหมายที่ยืดหยุ่น
นอกจากนี้เมื่อกระจายอำนาจท้องถิ่นจะมีอีกบทบาท คือ การสร้างผู้นำรุ่นใหม่จากท้องถิ่นได้ ซึ่งหากกระจายอำนาจทางการเมืองและพัฒนาองค์การส่วนท้องถิ่นเต็มรูปแบบจะทำให้เกิดผู้นำที่มีความสามารถในพื้นที่ และเติบโตขึ้นมาเป็นผู้นำระดับชาติ โดยต่างประเทศมีตัวอย่างคนที่เป็นผู้นำจากท้องถิ่นมาก่อน เช่น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน , บิล คลินตัน อดีตประธานาธิดีสหรัฐ รวมทั้งนเรนทราโมดี นายกรัฐมนตรีของอินเดีย ซึ่งทั้งหมดเคยเป็นผู้นำระดับท้องถิ่นของประเทศมาก่อน
++ แนะ3แนวทางหนุน อปท.
สำหรับข้อเสนอทีดีอาร์ไอในการเพิ่มบทบาทของ อปท.ให้ท้องถิ่นตอบโจทย์การพัฒนาประเทศระยะต่อไป เพื่อปรับบทบาทรัฐให้ประชาชนได้บริการดีขึ้น ได้แก่
1.เพิ่มความเป็นอิสระของท้องถิ่น ยุบรวมท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กให้เป็นขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ยุบรวมจังหวัดเข้ากับ อบจ.เพื่อไปสู่ “จังหวัดจัดการตนเอง” จะเพิ่มอำนาจการต่อรองและเพิ่มบทบาทในการทำงาน แก้กฎหมายลดอำนาจแกรกแซงของมหาดไทย และแยกภาษีที่จัดเก็บเองออกจากรายได้ที่รัฐบาลโอนให้
2.เพิ่มขีดความสามารถของท้องถิ่น และจูงใจให้ อปท.ควบรวมโดยปรับสูตรเงินโอน ปรับบทบาทให้ส่วนกลางเป็นพี่เลี้ยง และดูแลมาตรฐานบริการของท้องถิ่นแทนการกำหนดนโยบาย
3.เพิ่มความรับผิดชอบให้กับท้องถิ่น โดยกำหนดให้เปิดเผยผลงานต่อประชาชน และแก้กฎหมายให้ถอดถอนผู้บริหารง่ายขึ้น