ส่องความพร้อมทางด่วนสายใหม่ ‘จตุโชติ - ลำลูกกา’ เปิดประมูลปีนี้
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเดินหน้าทางด่วนสายใหม่ “จตุโชติ – ลำลูกกา” เม็ดเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูล มิ.ย.นี้ คู่ขยายคลอด พ.ร.ฎ.เวนคืน 471 ไร่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 134 หลัง ปักหมุดก่อสร้าง 5 ปี แล้วเสร็จ 2570
Key Points
- ครม.อนุมัติลงทุนโครงการทางด่วนฉลองรัช ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา
- การทางฯ เตรียมเปิดประมูลงานก่อสร้าง มิ.ย.นี้
- คาดเวนคืน 471 ไร่ กระทบ 134 หลังคาเรือน
- ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เปิดบริการปี 2570
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ดำเนินโครงการ “ทางด่วนฉลองรัช” ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ-ถนนลำลูกกา) ระยะทาง 16.21 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบน ถนนรังสิต-นครนายก และโครงข่ายถนนโดยรอบ
โดยขณะนี้ กทพ.เตรียมความพร้อมดำเนินโครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างเร่งรัดทำร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ซึ่งดำเนินการคู่ขนานไปกับการร่างประกาศประกวดราคาจัดหาเอกชนก่อสร้างงานโยธา คาดว่าจะประกวดราคาได้อย่างเร็วที่สุดต้นเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วนฉลองรัช ส่วนต่อขยายช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา มีมูลค่าการลงทุน 24,060.04 ล้านบาท แยกเป็นค่าจัดกรรมสิทธิที่ดิน 3,726.81 ล้านบาท ส่วนนี้จะใช้จ่ายจากงบประมาณรัฐบาล ขณะที่ค่าก่อสร้างและค่าควบคุมงาน 20,333.23 ล้านบาทนั้น กทพ. จะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) 14,374 ล้านบาท และออกพันธบัตรในกรอบวงเงิน 5,960 ล้านบาท
โดยโครงการทางด่วนช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา มีแนวเส้นทางเริ่มต้นเชื่อมต่อกับทางด่วนฉลองรัช ที่ด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษจตุโชติบริเวณถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพด้านตะวันออก (ถนนกาญจนาภิเษก) และมุ่งหน้าทางทิศตะวันออกตัดถนนหทัยราษฎร์และถนนนิมิตใหม่ แล้วเลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเชื่อมต่อถนนลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี
การก่อสร้างโครงการจะมีทางแยกต่างระดับ 1 แห่ง และทางขึ้นลง 3 แห่ง ได้แก่
ตำแหน่งที่ 1 ทางขึ้นลง กม.1+900 บริเวณทางแยกต่างระดับจตุโชติ
ตำแหน่งที่ 2-1 ทางขึ้นลง กม.4+000 จตุโชติ-1 และหทัยราษฎร์-1
ตำแหน่งที่ 2-2 ทางขึ้นลง กม.5+000 บริเวณทางต่างระดับทหัยราษฎร์
ตำแหน่งที่ 2-3 ทางขึ้นลง กม.6+200 บริเวณหทัยราษฎร์-2
ตำแหน่งที่ 3 ทางขึ้นลงบริเวณ กม.14+000 บริเวณลำลูกกา
ส่งผลให้โครงการทางด่วนช่วงจตุโชติ – ลำลูกกา จากผลการศึกษามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืน 471 ไร่ 99 ตารางวา อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลกระทบ 134 หลัง โดย กทพ.คาดการณ์ว่าจะต้องใช้งบประมาณในการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 3,726.81 ล้านบาท คำนวณตามราคาประเมิน ณ ปี 2564
ขณะที่ไทม์ไลน์ในการพัฒนาโครงการทางด่วนสายใหม่นี้ กทพ. จะใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง 5 ปี ระหว่าง 2566-2570 มีแผนงาน ดังนี้
- ระหว่างเดือน มี.ค.- ก.ย.2566 : เสนอร่าง พรฎ.เพื่อจัดกรรมสิทธิที่ดิน คัดเลือกผู้ควบคุมงานก่อสร้าง และคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ
- ระหว่างเดือน ต.ค.2566 - ก.ย.2568 : ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ
- ระหว่างเดือน ก.ย.2567 - ส.ค. 2570 : ก่อสร้างโครงการ