การพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ณ วันนี้ พอจะสรุปได้ว่าธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังยืนยันที่จะควบคุมให้เงินเฟ้อ (ที่สูงเกินเป้านโยบาย) ต้องลดลงให้จงได้ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้ถึงระดับที่สูงเพียงพอ และยาวนานเพียงพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

แต่ไม่มีใครรู้ว่าระดับดอกเบี้ยนโยบาย (เพื่อปราบเงินเฟ้อ) นี้จะอยู่ที่ระดับใด (5%, 6%?) และดอกเบี้ยนโยบายจะต้องอยู่ที่ระดับสูงดังกล่าวยาวนานเพียงใด กล่าวคือเงินเฟ้อนั้นปราบได้ง่ายหรือยากเย็นเพียงใด

ประเด็นที่ตามมาคือ การปราบเงินเฟ้อดังกล่าวนั้นมีต้นทุนในการชะลอตัวเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด 

ซึ่งหากกลับไปดูประสบการณ์ในอดีตนั้น ก็ต้องตอบว่าต้นทุนจะสูงมากในกรณีที่ผิดพลาดปล่อยให้เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างมากเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2021-2022

กล่าวคือจะต้องทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะถดถอยทุกครั้ง แปลว่าจะต้องมีการล้มละลาย การลดขนาดของธุรกิจและการปลดพนักงานเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย หรือเรียกว่า Hard Landing

ในภาวะที่ดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้นที่สหรัฐ (และที่ยุโรป) อย่างรวดเร็วในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้เริ่มทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจขึ้นแล้ว 

โดยเริ่มจากสินทรัพย์และธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงคือ คริปโทฯ อสังหาริมทรัพย์และหุ้นเทคโนโลยีที่ราคาปรับลดลงอย่างมาก และต่อมา แม้แต่ธนาคารพาณิชย์ที่ยึดโยงกับธุรกิจทั้งสามประเภทที่สหรัฐ ก็กำลังพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย

ประเด็นคือต่อจากนี้ไป ก็คงต้องมีธุรกิจที่จะเผชิญกับความยากลำบากเพิ่มขึ้นไปอีก ตราบใดที่เงินเฟ้อโดยรวมยังสูงเกินเป้าของธนาคารกลาง ทำให้ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้นและยืนดอกเบี้ยที่สูงเอาไว้เป็นเวลานาน

กล่าวคือ ธุรกิจจะต้องตั้งรับทั้งความท้าทายจากยอดขายที่จะลดลง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการสภาพคล่องของบริษัทให้มั่นคง

บางคนอาจบอกว่า หากต้นทุนของการปราบเงินเฟ้อสูงมากเกินไป ก็ควรพยายามอยู่กับเงินเฟ้อที่สูงเกินไปต่อไปอีก 2-3 ปี

แต่แนวคิดดังกล่าว (โดยเฉพาะการอ้างว่าเป็น supply shock ที่จะคลี่คลายตัวไปเอง) นั้น ก็เคยนำมาปฏิบัติแล้วตอนปี 1973-1976 (หลายคนคงเกิดไม่ทัน)

แต่ก็ได้นำไปสู่สภาวะ Stagflation ในช่วง 1976-1979 (คือเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ คุมไม่ได้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่ำ)

 ในตอนนั้นที่สหรัฐ ประธานาธิบดี Gerald Ford ประกาศให้การต่อสู้เงินเฟ้อเป็น “วาระแห่งชาติ” (inflation is public enemy number 1) ได้พยายามสร้างกระแส “Whip inflation now” (WIN) โดยออกมาตรการมามากมาย

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

แต่ธนาคารกลางสหรัฐยอมลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเศรษฐกิจตกต่ำและคิดว่าเงินเฟ้อเกิดขึ้นเพราะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องระยะสั้นที่จะคลี่คลายไปเอง

ต่อมาเมื่อปราบเงินเฟ้อไม่สำเร็จ ก็ต้อง “หักดิบ” โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปให้สูงถึง 18-20% ในช่วงปี 1980-1981 เพื่อปรับลดเงินเฟ้อลงจาก 10% ให้เหลือ 4-5% ต่อปี

แต่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงมากคือเศรษฐกิจถดถอย 2 ครั้ง ภายในเวลา 3 ปี 

ผมคิดว่าธนาคารกลางสหรัฐโดยเฉพาะผู้ว่าการฯ คือนาย Jerome Powel จดจำบทเรียนดังกล่าวได้ดีและไม่ต้องการเผชิญปัญหาเดียวกัน

ในครั้งนี้จึงจะต้องมีการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก และส่งผลลบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากก็น้อย ประชาชนและธุรกิจก็จะต้องเผชิญปัญหา และเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหา โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะในช่วงใกล้การเลือกตั้ง)

แต่ต้องเข้าใจว่า ในภาวะที่โลกมีปัญหาเงินเฟ้อ (และไทยก็มีบ้างเช่นกัน) นั้น ปัญหาคืออุปสงค์ (demand) สูงเกินไป

 ดังนั้น การเรียกร้องให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นอุปสงค์ (เช่น การแจกเงิน) จะเป็นการกระทำที่ย้อนแย้ง และเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อให้ยืดเยื้อมากขึ้น

นอกจากนั้น การที่รัฐบาลต้องกู้เงิน (ขาดดุลงบประมาณ) มากขึ้นนั้น ก็คือการเอาเงินในอนาคตมาใช้ในวันนี้ ทำให้ประชาชนต้องรับภาระหนี้มากขึ้น (รัฐเก็บภาษีมากขึ้น) ในวันหน้าในยุคที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้น การใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความยั่งยืน จึงจะต้องเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มอุปทาน (supply) ในอนาคต และอาจมองได้ว่า ควรเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่เพิ่มศักยภาพการผลิตในอนาคต 

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เช่น การลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่างมาก ทั้งกับภาคเกษตร ธุรกิจ และครัวเรือน

แต่โครงการใหญ่นั้นจะมีปัญหามากในการริเริ่ม จะถูกคัดค้านโดยกลุ่มต่างๆ กล่าวคือ ทำให้เกิดได้ยากและไม่ใช่ quick win ที่ทำให้พรรคการเมืองได้รับความนิยมเพิ่มอย่างทันทีทันใด

นอกจากนั้นแล้วก็จะต้องระวังไม่ลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนต่ำ (เช่น สร้างถนนเพิ่มขึ้นหากต้องการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ หรือการจะต้องมีสนามบินในหลายแห่ง หลายจังหวัด)

อีกแนวคิดหนึ่งซึ่งพบเห็นบ่อยคือ การเสนอให้กระตุ้นอุปสงค์เพื่อให้ไปกระตุ้นอุปทาน เช่น การแจกเงินให้ไปซื้อสินค้าและบริการในท้องถิ่นและการเน้นว่าชาวบ้านหากได้เงินมา 100 บาท ก็จะใช้เงินทั้ง 100 บาทต่อๆ กันไป ทำให้เงินหมุนหลายรอบ (high multiplier)

แต่การกระตุ้นเป็นครั้งคราวนั้น จะไม่ทำให้มีการลงทุนเพื่อขยายการผลิตในระยะยาว กล่าวคือแทนที่จะบอกว่า demand create supply ควรผลิตสินค้าที่ตลาดต้องการจริงๆ (เช่น Steve Job คิดค้นและผลิต iphone) คือ supply creates its own demand

การขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อให้การฟื้นตัวอย่างยั่งยืนนั้น คือการแสดงความเป็นผู้นำและเป็นการดูแลผลประโยชน์ระยะยาวของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเรื่องยาก แต่ผมอยากให้ตั้งเข็มทิศให้ถูกทิศทางตั้งแต่ต้นครับ.

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร