ส่งมอบท่อน้ำ EEC ยืดเยื้อ ‘โรงงาน-ผู้ใช้น้ำ’ ถูกยึดเป็นตัวประกัน

ส่งมอบท่อน้ำ EEC ยืดเยื้อ ‘โรงงาน-ผู้ใช้น้ำ’ ถูกยึดเป็นตัวประกัน

ปัญหาส่งมอบท่อน้ำในภาคตะวันออกยืดเยื้อ หลังกรมธนารักษ์เร่งให้ส่งมอบ ‘อีสท์ วอเตอร์’ อ้างรัฐรีบลงนามสัญญาทั้งที่ทำรายละเอียดทรัพย์สินยังไม่เสร็จ ชี้ผู้ใช้น้ำจะได้รับผลกระทบ 

Key Points

  • กรมธนารักษ์ได้เปิดประมูลให้สิทธิหาผู้บริหารท่อน้ำภาคตะวันออกเมื่อปี 2565
  • ปัญหาการส่งมอบท่อน้ำยังไม่ได้ข้อสรุปแม้จะมีการลงนามสัญญาไปตั้งแต่ปลายปี 2565
  • อีสท์ วอเตอร์ออกมาอ้างถึงปัญหาการจัดทำรายละเอียดทรัพย์สินที่จะส่งมอบให้รัฐ
  • ขณะที่ผู้ใช้น้ำถูกยกขึ้นมาเป็นตัวประกันหากต้องรับส่งมอบท่อน้ำภายในเดือน เม.ย.2566

ความยืดเยื้อของการส่งมอบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกที่เป็นข้อพิพากระกว่างกรมธนารักษ์และบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ําภาคตะวันออก จํากัด (มหาชน) หรือ 'อีสท์ วอเตอร์' 

หลังจาก บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลและได้ลงนามกับกรมธนารักษ์ไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 ซึ่งมีระยะเวลาการเช่า 30 ปี และให้ผลตอบแทนแก่รัฐรวม 25,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมธนารักษ์มอบหมายให้อีสท์ วอเตอร์ดำเนินการ และกรมธนารักษ์ได้แจ้งให้อีสท์วอเตอร์ ดำเนินการส่งมอบพื้นที่ให้แก่กรมธนารักษ์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1.โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 เป็นท่อส่งน้ำที่ไม่มีสัญญาเช่าและจะต้องส่งมอบให้กรมธนารักษ์ภายใน 60 วัน

2.โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย ที่มีสัญญาเช่าจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.2566

ล่าสุดวันที่ 10 มี.ค.2566 กรมธนารักษ์ส่งหนังสือการบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง ระยะที่ 2 

หนังสือที่กรมธนารักษ์แจ้งมาระบุให้ อีสท์ วอเตอร์ ส่งคืนพื้นที่และทรัพย์สินในโครงการดังกล่าวให้แก่กรมธนารักษ์ ภายในวันที่ 11 เม.ย. 2566 หากไม่ดำเนินการกรมธนารักษ์จะสงวนสิทธิ์ให้อีสท์ วอเตอร์ ปฏิบัติตามระเบียบที่บังคับใช้ ณ ปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเรียกร้องค่าเสียหาย และเงินอื่นใด (ถ้ามี) จากการที่อีสท์ วอเตอร์ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด 

รวมทั้ง อีสท์ วอเตอร์ได้ส่งหนังสือส่งให้แก่อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงวันที่ 22 มี.ค.2566 เรื่องการโต้แย้งการบอกเลิกการเช่า/บริหารโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) การเรียกให้ส่งมอบพื้นที่และทรัพย์สินแก่กรมธนารักษ์ และการเรียกค่าเสียหาย พร้อมแจ้งข้อเสนอของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อลดกระทบต่อผู้ใช้น้ำให้แก่กรมธนารักษ์

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า ยืนยันให้ความร่วมมือในการดำเนินงานส่งมอบท่อส่งน้ำสายหลักตามที่กรมธนารักษ์ร้องขอมาโดยตลอด ย้ำคำนึงถึงผู้ใช้น้ำเป็นหลัก หากไม่มีแผนงานการส่งมอบ- รับมอบโครงการร่วมกัน ผลกระทบจะตกอยู่กับผู้ใช้น้ำ ตามที่ชี้แจงไปในหนังสือ สรุปประเด็นสำคัญดังนี้

1.อีสท์ วอเตอร์ ให้ความร่วมมือเข้าตรวจสอบพื้นที่ในการส่งมอบทรัพย์สิน และอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐลงพื้นที่ตรวจทั้ง 3 ครั้งตามที่ร้องขอ และให้การสนับสนุนข้อมูล แต่ยังไม่มีข้อสรุป ขั้นตอนการดำเนินการส่งมอบรับมอบโครงการและประเด็นทรัพย์สินทับซ้อนเรื่องทรัพย์สินทับซ้อน อีสท์ วอเตอร์เห็นว่าทุกฝ่ายต้องหาแนวทางที่ลดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำร่วมกัน

2.ด้านการลงนามสัญญากับเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก กรมธนารักษ์ได้รีบเร่งลงนามสัญญาเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 ทั้งที่ยังไม่ได้มีข้อยุติเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินตามที่ประชุมคณะกรรมการที่ราชพัสดุมีมติให้ดำเนินการตามข้อสังเกตุของอัยการสูงสุดที่ให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนลงนามในสัญญา ดูเป็นการกระทำที่รีบเร่งสัญญา ดูเป็นการกระทำที่รีบเร่ง ทั้งๆที่ยังไม่มีแนวทางป้องกันผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ

3.ด้านทรัพย์สินที่จะส่งมอบ หากต้องส่งมอบในวันที่ 11 เม.ย.2566 โดยไม่มีแผนการส่งมอบรับมอบโครงการทั้ง 2 อย่างเป็นขั้นตอน อาจส่งผลกระทบดังนี้

• ผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะผู้ใช้น้ำบริเวณพื้นที่ ปลวกแดง ซึ่งมีการส่งจ่ายน้ำ 210,000 ลบ.ม. ต่อวัน และผู้ใช้น้ำตามแนวท่อหนองปลาไหล-มาบตาพุด-สัตหีบ อีก 300,000 ลบ.ม. ต่อวัน

• พื้นที่ทับซ้อน เนื่องจากมีทรัพย์สินของ อีสท์ วอเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกให้เป็น Water Grid ตามมติ ครม. เช่น มิเตอร์ ปั๊มน้ำ เครื่องสูบน้ำ สถานีสูบ ระบบ SCADA ที่ใช้ควบคุมแรงดันน้ำจากระยะไกล ในส่วนพื้นที่บางส่วนซึ่งต้องส่งมอบคืนให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนในการใช้พื้นที่ร่วมกัน

กรมธนารักษ์ควรตรวจสอบว่าเอกชนที่ได้รับการคัดเลือกสามารถเริ่มการดำเนินการเชิงพาณิชย์อย่างถูกกฎหมายได้ทันทีหลังการส่งมอบโครงการหรือไม่ มิฉะนั้น ผู้ใช้น้ำอาจได้รับน้ำที่มีการสูบจ่ายโดยไม่ถูกต้อง

4.การที่กรมธนารักษ์ส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้อีสท์ วอเตอร์ เมื่อปี 2540 และปี 2541 ดำเนินการตามมติ ครม.และตามรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางและการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนในการจัดให้เอกชนเช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก 

ซึ่งกรมธนารักษ์ใช้ประกอบการคัดเลือกเอกชนครั้งแรก (ก.ค.2564) และครั้งที่ 2 (ก.ย.2564) ระบุชัดว่าเป็นโครงการ 30 ปีและอยู่ระหว่างจัดทำสัญญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรมธนารักษ์ โดยสิ้นสุดในปี 2570 และ 2571 ตามลำดับ ไม่ใช่เป็นไปตามนัยหนังสือกรมธนารักษ์ ที่ กค 00420/948 ลงวันที่ 4 เม.ย.2543 และที่ กค 0305/17698 ลงวันที่ 14 ต.ค.2558 ซึ่งเป็นเรื่องการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล - หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ - แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ที่คำนวณจากรายได้ที่เกิดจากการขายน้ำดิบ

5.ด้านการหาข้อยุติเรื่องการส่งมอบ-รับมอบพื้นที่และทรัพย์สิน โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) อีสท์ วอเตอร์ได้เสนอแนวทาง และขั้นตอนการส่งมอบ - รับมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำทั้ง 2 และจะต้องได้รับความเห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อประกอบการพิจารณาของกรมธนารักษ์

“การส่งมอบท่อคืน ขอให้มั่นใจว่าส่งคืนแน่นอน แต่อยากให้กรมธนารักษ์ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมของ EEC เป็นหลัก เพื่อไม่ให้กระทบผู้ใช้น้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนใน EEC” เชิดชาย กล่าว

การส่งมอบท่อน้ำที่ยืดเยื้อกได้สร้างความกังวลใจให้กับผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะผู้ในน้ำในนิคมอุตสาหกรรมที่เป็นลูกค้าสำคัญ

อัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันการส่งมอบท่อส่งน้ำอยู่ระหว่างการกำหนดแผนของผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ กรมธนารักษ์ อีสท์วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด โดยนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกกังวลเกี่ยวกับช่วงรอยต่อของการส่งมอบท่องส่งน้ำคืนให้กรมธนารักษ์ โดยสมาคมฯ ได้เข้าไปติดตามการส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อไม่ให้กระทบการดำเนินการของผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ชี้แจงไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 หน่วยงาน ว่าการส่งมอบท่อส่งน้ำและทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งน้ำให้กับผู้ประกอบการ โดยการส่งน้ำจะต้องมีทั้งความต่อเนื่องและตามปริมาณที่มีการลงกันไว้

“ความต้องการน้ำของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังเพิ่มมากขึ้นจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน”

ส่งมอบท่อน้ำ EEC ยืดเยื้อ ‘โรงงาน-ผู้ใช้น้ำ’ ถูกยึดเป็นตัวประกัน กรุงเทพธุรกิจ ได้ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบรายละเอียดของทั้ง 2 บริษัท ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลบริหารท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ดังนี้

บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัดจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2519 ทุนปัจจุบัน 630 ล้านบาท ตั้งอยู่ กทม.วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด บริการรับเหมาก่อสร้างระบบประปา,ชลประทาน ปรากฏชื่อ นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย และนางสาวสุชานุช เกิดสินธ์ชัย เป็นกรรมการ

บริษัทนำส่งรายชื่อผู้ถือหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 มีอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย ถือหุ้นใหญ่สุด 74.5238% นางสาวสุชานุชเกิดสินธ์ชัย ถือ 25.0317% นางสาว วรนุช เกิดสินธ์ชัย ถือ 0.3889% นางสาว วลัยพันธ์ เกิดสินธ์ชัย ถือ 0.0556%

บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2558-2565) โดยเฉพาะการประปาส่วนภูมิภาค อย่างน้อย 12 สัญญา (เท่าที่ตรวจสอบพบ) รวมวงเงิน 5,098 ล้านบาท

ส่วน “อีสท์ วอเตอร์" ก่อนหน้านี้คือ “รัฐวิสาหกิจ” ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2535 มีการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงมหาดไทย ถือหุ้นใหญ่สุด 100% ต่อมาเมื่อปี 2540 ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท โดย กปภ.ถือหุ้นเหลือแค่ 40% ทำให้ “อีสท์ วอเตอร์” ในปัจจุบันมิใช่“รัฐวิสาหกิจ”

“อีสท์ วอเตอร์” จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2539 ทุนปัจจุบัน 1,663,725,149 บาท วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด จำหน่ายน้ำดิบจำหน่ายน้ำประปา

รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 ลำดับแรก ได้แก่ 

1.การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ถือ 40.20% 

2.MANILA WATER (THAILAND) COMPANY LIMITED ถือ 18.72% 

3.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ถือ 4.57% 

4.บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือ 4.14%

5.นาย มิน เธียรวร ถือ 2.34%

“อีสท์ วอเตอร์” เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (2558-2565) อย่างน้อย 80 โครงการ รวมวงเงินอย่างน้อย 363.62 ล้านบาท