‘เอส ไอ จี’ ชูนวัตกรรมลดโลกร้อน ส่งบรรจุภัณฑ์ตอบโจทย์ความยั่งยืน
“เอส ไอ จี” ขานรับนโยบายลดโลกร้อน มุ่งพัฒนาโรงงานบรรจุภัณฑ์ช่วยลดคาร์บอนในระยอง หวังลูกค้าในไทยไม่ใช่ส่วนผสมอลูมิเนียม สู่โรงงานพลังงานสะอาด ย้ำผู้นำใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ครบรอบ 5 ปี กำลังผลิตไฟฟ้าปีละ 5,675 เมกะวัตต์ ดันเป้าหมายองค์กรสู่ Net Zero ปี 2050
“เอส ไอ จี” ดำเนินธุรกิจใน 5 ประเทศ ให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มไปสู่ผู้บริโภคทั่วโลกด้วยวิธีที่ปลอดภัย ยั่งยืน และคุ้มค่า ภายใต้กลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อ (aseptic carton) บรรจุภัณฑ์แบกอินบ๊อก (bag-in-box) และบรรจุภัณฑ์แบบถุง/ซองพร้อมฝา (spouted pouch)
นายมิเกล กามิโต ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตและซัพพลายเชน โรงงานเอสไอจี จังหวัดระยอง กล่าวว่า โรงงานเอส ไอ จี จังหวัดระยอง ดำเนินกิจการครบรอบ 25 ปี บนพื้นที่กว่า 109,600 ตรม. เพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับลูกค้าทั้งในเอเชียแปซิฟิกและเอเชียใต้ โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย โรงงานแห่งนี้มีการผลิตบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อถึงราว 11,000 ล้านกล่อง ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ เช่น ไทย เดนมาร์ค, เนสท์เล่, FrieslandCampina, Vinamilk, Indomilk, Ultrajaya, Parle Agro, Amul เป็นต้น หรือเฉลี่ยกำลังผลิตวันละ 44 ล้านชิ้น
ทั้งนี้ โรงงานบรรจุภัณฑ์ของเอส ไอ จี ที่ระยองมีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนแก่ตลาดหลักในภูมิภาค โรงงานแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค แสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์และเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทที่ตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเป็นฝ่ายรับ (net-positive) ปีนี้ดำเนินการครบ 25 ปี ถือว่าได้ตอบแทนชุมชนในจังหวัดระยองและทำหน้าที่อย่างดีในการส่งเสริมความยั่งยืนในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังเป็นโรงงานผลิตของเอส ไอ จี ถือเป็นแห่งแรกในโลกที่ใช้ระบบโซลาร์โฟโตวอลเทอิก (photovoltaic หรือ PV) ที่มีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานจนทำให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพลังงานของไทยปี 2579 ที่กำหนดให้ใช้พลังงานไฟฟ้า 40% จากแหล่งพลังงานหมุนเวียน มีแผงโซลาร์เซลล์จำนวน 12,350 แผง บนพื้นที่กว่า 40,064 ตรม. เทียบเท่าสนามฟุตบอล 5 สนาม ผลิตไฟฟ้า 5,675 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ช่วยลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน 12,871 ตันเทียบเท่าชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยต้นไม้ 415 ต้น หรือเทียบเท่าผืนป่าขนาด 10,000 ตรม.เทียบเท่ากับการจ่ายไฟให้แก่บ้านที่อยู่อาศัย 5,620 หลังคาเรือนในแต่ละเดือน
นอกจากนี้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา โรงงานในระยองยังได้รางวัลฉลากลดโลกร้อนของ Thailand Energy Award จากโครงการโซลาร์รูฟท็อป จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการลงทุนจัดตั้งโครงการพลังงานทดแทนประเภทที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (off-grid) ที่จังหวัดระยอง ถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ความมุ่งมั่นของเอส ไอ จี กรุ๊ป ที่จะตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากกว่าที่ได้รับ
"นอกจากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาแล้ว ยังมีฟาร์มโซลาร์เซลล์และโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงจอดรถ เปรียบได้ว่าโรงงานแห่งนี้ มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ของไทย ซึ่งโซลาแบบหมุนตามดวงอาทิตย์มีประสิทธิภาพดีกว่า 20% ต่อตรม./พื้นที่ ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดค่าไฟได้ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องของลดโลกร้อนด้วย"
นางสาวแอนเจลา ลู ประธานและผู้จัดการทั่วไปของเอส ไอ จี ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใต้ กล่าวว่า โรงงานของเอส ไอ จี สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์โดยใช้วัสดุกระดาษแข็งที่ผ่านการจัดหาอย่างตระหนักต่อความรับผิดชอบที่ได้รับการรับรอง 100% จาก FSC (Forest Stewardship Council) รวมถึงอลูมิเนียมที่ได้รับการรับรอง 100% จาก ASI (Aluminium Stewardship Initiative) ภายใต้มาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification) เป็นมาตรฐานรับรองคาร์บอน และการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมเปิดตัวโรงงานบรรจุภัณฑ์ของเอส ไอ จี ในอาห์เมดาบัด ประเทศอินเดีย คาดว่าจะเดินสายการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 2567 เพื่อป้อนลูกค้าในแถบเอเชียใต้ จะช่วยให้โรงงานที่ระยองสามารถทุ่มเทกับโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เน้นความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้นเพื่อลูกค้าในเอเชียแปซิฟิก
ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ. 2050 โดยอนาคตบรรุภัณฑ์ต้องไม่มีอลูมิเนียมซึ่งส่วนผสมของอลูมิเนียมในบรรจุภัณฑ์ถือว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนสูงสุด ซึ่งในยุโรปได้เปิดตัวบรรจุภัณฑ์ไม่มีอลูมิเนียมมาแล้วกว่า 10 ปี ขายแล้วกว่า 1,000 ล้านชิ้น ส่วนในประเทศไทยยังมีส่วนผสมของอลูมิเนียมอยู่ที่ 27% แม้ว่าจะมีต้นทุนสูงกว่า 10-12% แต่เพื่อแก้ปัญหาลดโลกร้อน และลูกค้ารุ่นใหม่ก็ให้ความสำคัญ และพร้อมที่จะปรับมาใช้ บริษัทฯ ได้พยายามทำราคาที่ไม่เพิ่มต้นทุนให้กับลูกค้า โดยมีจุดเด่นของบรรจุภัณฑ์ที่หลายขนาดเพื่อให้ลูกค้าได้เลือกมากขึ้น
นางสาวแอลเจลา กล่าวว่า นอกจากบริษัทฯ จะสร้างการจ้างแรงงานในพื้นที่จังหวัดระยองแล้วยังมอบหมายให้ซิมไบโอร์ โซลาร์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์แผงโซลาร์เซลล์ของเอสไอจีติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 7 กิกะวัตต์ให้แก่โรงเรียนนิคมสร้างตนเอง 10 จังหวัดระยองถือเป็นส่วนหนึ่งในสัญญาธุรกิจกับเอส ไอ จี ที่สร้างพลังงานหมุนเวียนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าที่เพียงพอสำหรับโรงเรียน และช่วยประหยัดค่าไฟรายเดือนกว่า 4,000 บาท และยังช่วยให้นักเรียนและครูได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงานและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย