'เพื่อไทย' ชูโมเดล 'รัฐสนับสนุน' หุ้นส่วนเอกชนร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“เพื่อไทย” ชูหลักคิดพลิกบทบาทรัฐอุปสรรคเป็นรัฐสนับสนุน ทำงานร่วมภาคเอกชนกำหนดทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เสนอตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่อำนวยความสะดวกการลงทุน เร่งรัฐบาลดิจิทัลสร้างความโปร่งใส ขจัดคอร์รัปชั่น
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย กล่าวในการเสวนาเรื่อง "วิสัยทัศน์การขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย" ในงานประชุมสามัญประจำปี 2566 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ภายใต้ธีมงาน "EMPOWERING THAI INDUSTRIES FOR POWERFUL THAILAND เสริมสร้างพลังอุตสาหกรรมไทย สู่ประเทศไทยที่แข็งแกร่ง" ว่า หลักคิดสำคัญของพรรคเพื่อไทย คือรัฐเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญของภาคเอกชน เพราะรัฐเก็บภาษี 20% จากกำไรของภาคธุรกิจ เพราะฉะนั้นรัฐในฐานะผู้ถือหุ้นสำคัญจะต้องเป็นผู้สนับสนุนและทำงานให้กับภาคเอกชน ซึ่งทราบดีว่ากลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมารัฐกลับเป็นอุปสรรค ต่อจากนี้จะต้องพลิกบทบาทจากการเป็นรัฐอุปสรรคเป็น “รัฐสนับสนุน”
ทั้งนี้ เมื่อทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนบทบาทมาเป็นหุ้นส่วนกันแล้วจะต้องร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานร่วมกันให้เติบโตไปด้วยกัน โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชน (กรอ.) รวมทั้งกำหนด KPI ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมมือกับเอกชนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่
นอกจากนี้ รัฐต้องมีบทบาทในการการเจรจากับต่างประเทศในการหาตลาดใหม่และการลงทุน โดยจะผลักดันให้เกิดสันติภาพและเกิดความมั่งคั่งร่วมกันในเวทีต่างประเทศ การดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตและกำหนดจุดยืนในปัจจุบันของไทย ในช่วงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เดินหน้าการเจรจาการค้าที่เข้าใจเกี่ยวกับบริบททางเศรษฐกิจ
ขณะเดียวกัน ต้องสนับสนุนด้านการผลิต โดยเฉพาะต้นทุนพลังงานที่เป็นต้นทุนสำคัญ การเพิ่มผลิตภาพจากกลไกภาษีในการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพ การลงทุนใหม่ และการฝึกคน Up skill และ Re skill รวมทั้งการปรับลดภาระการคมนามคม โดยเปิดเจรจาการค้าขยายทางการขนส่งทั้งทางราง ทางอากาศ ทางน้ำ ที่สำคัญการจำกัดอุปสรรคในเชิงกฎหมาย
รวมทั้งเสนอเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone) ที่จะเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะนำการลงทุนเข้ามา โดยพื้นฐานที่สำคัญคือรัฐบาลจะต้องเป็น Digital Government ที่โปร่งใส และมีการบริการแบบ one stop service
ทั้งนี้ ปัญหาคอร์รัปชั่นต้องแก้ไขและป้องกันตั้งแต่ต้นทาง ขจัดการซื้อขายตำแหน่ง โดยรัฐบาลต้องเป็นระบบดิจิทัลที่โปร่งใส่ยกตัวอย่างเรื่องการขอใบอนุญาต ต้องมีกำหนดเวลาในการพิจารณาที่ชัดเจน มีชื่อผู้รับผิดชอบในการอนุมัติ รวมทั้งต้องประชาชนมีส่วนร่วม
ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องขจัดอุปสรรคทางกฎหมายและต้องสนับสนุนแหล่งทุนที่สำคัญ ให้สามารถใช้ข้อมูลการค้าเป็นหลักประกันสินเชื่อ และเปิดโอกาสให้เกิดคลาวด์ฟันดิ้ง รวมทั้งการจับคู่สตาร์ตอัพกับอุตสาหกรรมให้กิดการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเท่าทันโลกเตรียมพร้อมรับภาษี CBAM
“เพื่อไทยให้ความสำคัญกับการผลักดันประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เกิดความโปร่งใสไปในตัว เริ่มจากราชการและวางโครงสร้างที่ชัดเจน พร้อมทั้งสร้างความตระหนักและรับรู้เรื่องดิจิทัลในเรื่องนี้ตั้งแต่ระดับเยาวชน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต“
ทั้งนี้ ไทยจะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายได้ต้องกำหนดทิศทางที่ชัดเจน และนำไปสู่การปฏิบัติ รัฐบาลต้องสนับสนุนแต้มต่อด้านภาษี รวมทั้งเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษาในการสร้างนัวตกรรม โดยกำหนดพื้นที่นำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ กรุงเทพ ขอนแก่น และหาดใหญ่ จากนั้นจะขยายผลโมเดลไปทั่วประเทศ