รฟม.ชงรัฐบาลใหม่ เคาะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ศาลปกครองสูงสุด ยกฟ้องปมยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 1 ระบุชอบด้วยกฎหมาย เผยยังเหลือคดีประมูลครั้งที่ 2 กรณีกีดกันการประมูล รฟม.ลุ้นรัฐบาลใหม่เสนอ ครม.
ศาลปกครองสูงสุด นัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 30 มี.ค.2566 ในคดีที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 1 กรณีมีมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2564 เห็นชอบยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 3 ก.ค.2563 และยกเลิกการคัดเลือกเอกชน
ศาลปกครองสูงสุด พิพากษายกฟ้องการยกเลิกประมูลครั้งที่ 1 เนื่องจากศาลวิเคราะห์ว่าผู้ถูกฟ้องคดี คือ คณะกรรมการ ม.36 และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีอำนาจยกเลิกประมูลโดยชอบตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ต้องดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว เพราะมีต่อผลตอบแทนทางการเงินของฝั่งตะวันออก รวมถึงการบริการที่ล่าช้าของฝั่งตะวันออก โดยจะส่งผลต่อสิทธิและประโยชน์ของผู้ใช้บริการ 439,736 คน/เที่ยว/วัน การพิจารณายกเลิกประมูลของผู้ถูกฟ้องจึงถูกต้องแล้ว เนื่องจากการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องคดีหลายสำนวนทำให้ระบุไม่ได้ว่าคดีจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะล่าช้า คณะกรรมการมาตรา 36 พิจารณาเดินหน้าประมูลได้โดยไม่ต้องรอศาลวินิจฉัยคดีเป็นที่ยอมรับได้
กรณีการยกเลิกประมูลขัดต่อความเสมอภาค คณะกรรมการคัดเลือกฯ ไม่ได้พิจารณาข้อเสนอรายใดก่อนพิจารณายกเลิก ดังนั้นจึงไม่ขัดต่อความเสมอภาค ซึ่งการประกาศยกเลิกประมูลมิได้เป็นไปตามอำเภอใจ โดยรับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกและแยกแยะการปฏิบัติไม่ได้ แต่เป็นไปเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ระหว่างรัฐและเอกชนตาม ม.6 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 จึงเป็นการกระทำโดยสุจริตและใช้ดุลพินิจโดยรอบ ถือเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมาย
รวมทั้งที่ศาลปกครองชั้นต้นเพิกถอนมติคณะกรรมการฯ และยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวน รวมถึงเพิกถอนประกาศ ร.ฟ.ม.เรื่องยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า หลังจากนี้จะต้องรอ ครม.ชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งตามขั้นตอน ครม.จะส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ยืนยันอีกครั้ง หากพิจารณาแล้วเห็นชอบตามเดิมจะเสนอ ครม.พิจารณาอีก ทำให้คาดไม่ได้ว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลเมื่อใด
“การที่ยังมีคดีฟ้องร้องในชั้นศาลไม่ส่งผลกระทบการลงนามกับเอกชน ไม่ต้องรอผลของคดีทั้งหมดก็ลงนามได้ เพราะไม่มีกฎหมายใดระบุว่าเมื่อถูกฟ้องคดีจะต้องยุติการดำเนินการตามสัญญา ยกเว้นกรณีศาลมีคำสั่ง นอกจากนี้ หากรัฐจะหยุดการดำเนินโครงการ หากมีการฟ้องร้องคดีอาจเป็นช่องว่างให้มีการฟ้องคดีตามมา”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังเหลือคดีข้อพิพาทอีก 3 คดี จากทั้งหมด 5 คดี ดังนั้นกระทรวงคมนาคมต้องใช้เวลาพิจารณารอบคอบก่อนเสนอ ครม. โดยคาดว่าสัญญาร่วมลงทุนจะเสนอ ครม.ชุดใหม่ และ 3 คดีที่กำลังพิจารณา ประกอบด้วย
สำหรับ 3 คดีที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา ประกอบด้วย
1.คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ฟ้องการแก้ไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเข้าเป็นผู้ร่วมลงทุน (RFP) และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต(หมายเลขแดงที่ อท.133/2565) ปัจจุบัน BTSC ขอขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
2.คดีศาลปกครองกลาง BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี โดยการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1 ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับ เนื่องจากเห็นว่าประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิ หรือกีดกัน BTSC และการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC
3. คดีศาลปกครองกลาง นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคก้าวไกล ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ โดยศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่ได้อุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด
“3 คดีที่เหลืออยู่นั้น ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง และแทบไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการ เพราะคดีที่ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลฯ ไม่ได้รับฟ้อง ส่วนคดีฟ้องการประมูลใหม่ ก่อนหน้านี้ศาลปกครองกลางฯ ได้ตัดสินแล้วว่า ไม่ได้ตัดสิทธิ หรือกีดกัน BTSC ดังนั้นแนวโน้มก็น่าจะดี ขณะที่คดีของนายสุรเชษฐ์ ศาลฯ ยังไม่รับฟ้องเลย ก็ค่อนข้างมั่นใจว่าการดำเนินงานของภาครัฐทำถูกต้อง”