เทียบฟอร์ม ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ’ พรรคการเมือง เฟ้นตัวจริงพร้อมบริหารนโยบาย
เปิดชื่อ - ประสบการณ์หัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคการเมือง 8 พรรค แต่ละพรรคการเมืองเฟ้นระดับอดีตรองนายกฯ อดีตรมว.กระทรวงเศรษฐกิจ ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน มือทำงบประมาณ หวังสร้างความเชื่อมั่นผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งมั่นใจสามารถขับเคลื่อนนโนบายเศรษฐกิจได้จริง
การเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566ได้รับความสนใจมากที่สุดครั้งหนึ่งโดยในครั้งนี้มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นของหลายพรรคการเมือง โดยนโยบายสำคัญที่แต่ละพรรคแข่งกัน คือ “นโยบายเศรษฐกิจ”
นอกจากรายละเอียดของนโยบายเศรษฐกิจที่แต่ละพรรคมีการนำเสนอกันอย่างต่อเนื่องแล้ว บุคคลที่เป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของแต่ละพรรคการเมืองก็ถือว่าเป็นบุคคลที่ได้รับการจับตา เพราะนอกจากเป็น “คีย์แมน” หลักของพรรคในการถ่ายทอดนโยบายเศรษฐกิจ ออกสู่สาธารณะให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้เข้าใจแล้วหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแต่ละพรรคยังอยู่ในตำแหน่งสำคัญของพรรค ไม่ว่าจะเป็นผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับต้นๆ เป็นกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งบางคนยังเป็นแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรค
ซึ่งหมายความว่าหากพรรคสามารถเข้ามาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูงที่บุคคลเหล่านี้จะเข้ามานั่งตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่ได้มีการหาเสียงเอาไว้
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของแต่ละพรรคจะต้องเฟ้นหาบุคคลที่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน และภาคธุรกิจได้ว่าหากเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วจะสามารถทำงานได้ทันที
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมรายชื่อ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของพรรคการเมืองที่ได้มีการเปิดตัวออกในขณะนี้ว่ามีใครบ้าง และมีประสบการณ์การทำงาน และความเชี่ยวชาญในเรื่องใดบ้าง ถือเป็นการเทียบฟอร์มให้ผู้อ่านได้เห็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของแต่ละพรรค
8 หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
1.พรรคเพื่อไทย : น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อายุ 78 ปี ปัจจุบันเป็นประธาน คณะกรรมการด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย น.พ.พรหมินทร์ เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยที่รัฐบาลทักษิณ
2.พรรคพลังประชารัฐ : อุตตม สาวนายน อายุ 52 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำงานร่วมกับทีมเศรษฐกิจของพรรคอีกหลายคน ดร.อุตตม เคยดำรงตำแหน่งรมว.คลัง รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.กระทรวงดิจิทัล โดยก่อนที่จะเข้าสู่วงการการเมืองเคยเป็นผู้บริหารสถาบันการเงินเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัย
ก่อนที่จะเข้าสู่แวดวงการเมืองจากการชักชวนของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มาเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยที่สมคิดเป็นรมว.คลังในสมัยรัฐบาลทักษิณ
3.พรรคประชาธิปัตย์ : จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อายุ 67 ปี ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่หัวหน้าพรรคและแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยตัวเอง จุรินทร์เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในรัฐบาลปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในสมัย “รัฐบาลชวน 1” และ ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัย “รัฐบาลชวน 2”
4.พรรครวมไทยสร้างชาติ : ม.ล.ชโยทิต กฤดากร อายุ 56 ปี ปัจจุบันเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรครวมไทยสร้างชาติ และลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับต้นๆของพรรค
ม.ล.ชโยทิตเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของ “รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์” โดยมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ผู้แทนการค้าไทย และหัวหน้าทีมปฏิบัติการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ม.ล.ชโยทิตทำงานเป็นกรรมการในบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง โดยก่อนหน้านี้สร้างชื่อจากการทำงานในวาณิชธนกิจชื่อดังเจพีมอร์แกนในตำแหน่ง กรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด และ Senior Country Officer ของ JPMorgan Chase Bank
5.พรรคชาติพัฒนากล้า : กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค รวมทั้งทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค โดยมีนโยบายที่สำคัญหลายนโยบาย ได้แก่ หารายได้เข้าประเทศ 5 ล้านล้าน นโยบายงานดี มีเงิน ของไม่แพง
กรณ์มีประสบการณ์ในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้รับการยอมรับในฐานะรัฐมนตรีคลังโลก โดยนิตยสารเครือ The Banker: Financial Times จากผลงานฟื้นเศรษฐกิจประเทศหลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
ก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์เขาเคยเป็นผู้จัดการกองทุน S.G. Warburg อังกฤษ และ CEO ของ JF Thanakom
ในปี 2557 เขาเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฟินเทค (ประเทศไทย)
6.พรรคก้าวไกล : ศิริกัญญา ตันสกุล อายุ 41 ปี ศิริกัญญา เป็นรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พ่วงตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค
ก่อนเข้าสู่การเมืองมีประสบการณ์ทำงานด้านนโยบายสาธารณะทั้งที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอีอาร์ไอ) และสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)
ตลอดเวลาระยะเวลาที่เป็นผู้แทนราษฎรมีส่วนร่วมในกรรมาธิการงบประมาณหลายปี รวมทั้งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจสภาผู้แทนราษฎร
7.พรรคไทยสร้างไทย : สุพันธ์ มงคลสุธี อายุ 64 ปี สุพันธ์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) 3 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย และพึ่งได้รับการวางตัวเป็นหนึ่งในแคนดิเนตนายกรัฐมนตรีของพรรค
ในบทบาทการทำงานในภาคเอกชนสุพันธ์ประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะเจ้าของกิจการเอสเอ็มอีเล็กๆ ที่ผลักดันให้บริษัทก้าวเข้ามาเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
โดยก่อนจะเข้าสู่สนามการเมืองเขานั่งในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กรรมการบริษัท พลัส เทค อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) และกรรมการโรงเรียนสถานศึกษานานาชาติ(ISB)
8.พรรคชาติไทยพัฒนา: ชาติชาย พยุหนาวีชัย อายุ 63 ปี ชาติชายเป็นอดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนที่ 16 หลังจากที่พ้นจากตำแหน่งผ.อ.ธนาคารออมสิน ชื่อของ “ชาติชาย” ได้รับการจับตามองว่าจะเข้าสู่สนามการเมืองหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้มีชื่อเป็นตัวเต็งที่จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเข้าร่วมกับพรรคชาติไทยพัฒนาของวราวุธ ศิลปอาชา และได้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ชาติชายมีประสบการณ์เป็นประธาน และกรรมการในบริษัทเอกชนหลายแห่ง เช่น ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการ บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัท พาร์ค ลักชัวรี่ จำกัด ประธานกรรมการ บริษัท ออริจิ้น คอนโดมิเนียม จำกัด และเคยเป็นกรรมการ บริษัท หลักทอง จำกัด บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด กรรมการ บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน),กรรมการ บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) รวมทั้ง เคยเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และกรรมการบริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เป็นต้น
และทั้งหมดคือโฉมหน้าของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทั้ง 8 พรรคการเมือง ส่วนหัวหน้าทีมของพรรคไหนจะได้สมหวังในการเข้ามาบริหารงานเศรษฐกิจในทำเนียบรัฐบาล นั้นต้องรอให้ผ่านการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ก่อนถึงจะสามารถบอกได้ว่า หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคใดจะได้เข้ามาทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ