คมนาคมปิดฉาก ‘ตั๋วร่วมแมงมุม’ ดันบัตร EMV แตะจ่ายทุกโครงข่าย
คมนาคมเดินหน้าตั๋วร่วมบัตรเดียวแตะจ่ายโครงข่ายขนส่งสาธารณะ สนข.ปิดฉากบัตร “แมงมุม” ชูบัตรเดบิต - เครดิต EMV เดินทางเชื่อมรถไฟฟ้าไม่เสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน เป้าหมายใช้ครอบคลุมขนส่งเรือ ราง บก ไร้รอยต่อ
การพัฒนาระบบตั๋วร่วม หรือ Common Ticketing System ถือเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงคมนาคม โดยก่อนหน้านี้มีนโยบายพัฒนาภายใต้บัตรโดยสารร่วม หรือ “บัตรแมงมุม” ซึ่งมีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อปี 2561 ในสมัยที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และมีการนำร่องแจกบัตรแมงมุมจำนวน 2 แสนใบ ให้กับประชาชนทดลองใช้จ่ายเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้าระหว่างสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน
ขณะที่เป้าหมายของการพัฒนาบัตรแมงมุม กระทรวงคมนาคมต้องการให้เป็นบัตรโดยสารร่วมใช้จ่ายค่าโดยสารครอบคลุมทั้งรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง รถโดยสารประจำทาง ขสมก. และรถไฟฟ้าแอร์ พอร์ต เรล ลิงก์ แต่ระยะเวลาที่ผ่านมา ยังไม่สามารถเจรจาให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่รับสัมปทานบริหารรถไฟฟ้าทั้งหมดให้ติดตั้งหัวอ่านบัตรและซอฟแวร์ให้สามารถอ่านบัตรแมงมุมได้
อีกทั้งการจะผลักดันให้ระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมดใช้บัตรแมงมุมในการชำระค่าโดยสาร จะต้องมีการพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อดำเนินการคำนวณรายได้ที่เกิดขึ้นของระบบขนส่งแต่ละโครงการ และจัดสรรแบ่งรายได้ให้ถูกต้อง ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้ให้บริการระบบขนส่งมีหลากหลายบริษัท
โดยเฉพาะรถไฟฟ้า ซึ่งมีผู้ประกอบการายใหญ่อย่าง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้มีข้อมูลของผู้โดยสาร และยังมีการพัฒนาบัตรชำระค่าโดยสารเป็นของตนเอง ต่อยอดไปเป็นบริการอื่นๆ รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคได้
อีกทั้งการที่จะต้องใช้บัตรแมงมุมที่ต้องรอรับรายได้ค่าโดยสารผ่านศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางนั้น อาจทำให้ผู้ประกอบการได้รับรายได้และข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ครอบคลุมเท่ากับการใช้จ่ายผ่านระบบบัตรโดยสารของตนเอง
จากสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทำให้การผลักดันบัตรแมงมุมให้เป็นบัตรโดยสารร่วมไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะจวบจนขณะนี้ผู้ถือบัตรแมงมุมก็ยังสามารถใช้บัตรดังกล่าวใช้จ่ายค่าโดยสารได้เพียงรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงิน ส่วนรถไฟฟ้า BTS ขณะนี้ก็ยังคงใช้บัตรแรบบิท ซึ่งเป็นบัตรชำระค่าโดยสารของตนเอง
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันต้องยอมรับว่ามีซอฟแวร์ และเทคโนโลยีหัวอ่านในการชำระค่าโดยสารที่ถูกพัฒนามาให้สะดวกต่อการใช้บริการมากขึ้น และได้รับความนิยมแพร่หลายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ใช้ชำระทั้งค่าโดยสารระบบขนส่งมวชน และชำระค่าบริการอื่นๆ อีกมากมาย คือ บัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) ซึ่งเป็นบัตรเดบิต และบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless สามารถใช้แตะจ่ายค่าบริการแทนเงินสด
นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ปัจจุบันบัตร EMV มีความสะดวกต่อผู้โดยสารในการใช้จ่ายการเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะมากกว่า หากจะเทียบกับบัตรแมงมุม เพราะบัตร EMV คือบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มีครอบครองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของธนาคารใดก็สามารถนำมาใช้จ่ายได้ หากว่าระบบขนส่งสาธารณะนั้นๆ ติดตั้งหัวอ่านบัตร EMV
จากความสะดวกในการใช้จ่าย และไม่เพิ่มภาระให้ประชาชนในการพกบัตรโดยสารหลายใบ ทำให้กระทรวงฯ มีนโยบายที่จะผลักดันระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทพัฒนาหัวอ่านบัตร EMV ซึ่งขณะนี้มีระบบขนส่งสาธารณะเข้าร่วมแล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีแดง รถโดยสาร ขสมก. และผู้ให้บริการเรือด่วนต่างๆ ถือว่าเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน
ขณะที่บัตรแมงมุม ถือเป็นบัตรที่ขณะนี้อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานแล้ว เพราะหากมีการติดตั้งหัวอ่าน EMV ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะทั้งหมด ประชาชนก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพกบัตรแมงมุมเพื่อไปใช้จ่าย เพราะสามารถใช้บัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตที่มีอยู่ในการใช้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ระบบราง เรือ และบก อย่างไร้รอยต่อ
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า บัตร EMV ปัจจุบันสามารถใช้เชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟสายสีแดง และรถ ขสมก. อีกทั้งล่าสุดธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการจัดทำระบบบัตรเหมาจ่าย Transit Pass Red Line BKK X BMTA สามารถนำมาจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถโดยสาร ขสมก.ถือเป็นความร่วมมือนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ในระยะต่อไปบัตรดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับเส้นทาง อื่นๆ หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน แต่เชื่อว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการถร่วมเอกชนของ ขสมก.มาดำเนินการจำหน่ายบัตรโดยสารร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น
สำหรับบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BBK X BMTA สนนราคาเหมาจ่ายจัดจำหน่ายใบละ 2,000 บาท และค่าธรรมเนียมออกบัตร 100 บาท รวมค่าใช้จ่าย 2,100 บาท โดยหาซื้อบัตรเหมาจ่ายได้จากจุดจำหน่ายบัตรขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่วนการใช้งานสามารถใช้บัตรเหมาจ่ายแตะชำระค่าโดยสารที่เครื่องชำระค่าโดยสารอัตโนมัติ หรือ EDC บน รถเมล์ ขสมก. ที่ให้บริการปัจจุบัน 2,885 คัน และจุดรับชำระค่าโดยสารที่ รฟท. กำหนด
โดยหลังจากเติมเงินบัตรจะมีอายุการใช้งาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่แตะชำระครั้งแรกที่ ขสมก. และ รฟท. อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น
ผู้โดยสารชำระค่าโดยสารครั้งแรกที่ ขสมก. วันที่ 1 เม.ย.2566 บัตรจะใช้งานทั้ง ขสมก. และ รฟท. ได้ถึงวันที่ 30 เม.ย.2566 เท่านั้น จนกว่าการเติมเงินครั้งถัดไป โดยสามารถใช้งานกับรถเมล์ ขสมก. ทุกประเภทแบบไม่จำกัดเที่ยว
ส่วนกรณีใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะนับจำนวนเที่ยวสูงสุด 50 เที่ยวต่อการเติมเงินหนึ่งครั้ง หากใช้จำนวนเที่ยว 50 เที่ยวหมดก่อน 30 วัน จะไม่สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อีก แต่ยังใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ได้จนกว่าครบ 30 วัน เช่น ผู้โดยสารใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครั้งแรกวันที่ 1 เม.ย.2566 ครบ 50 เที่ยวในวันที่ 25 เม.ย.2566 ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อีก แต่ยังคงใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2566 ตามปกติ จนกว่าจะเติมเงินรอบต่อไป