โจทย์ใหญเมืองใหม่ ‘อีอีซี’ แรงงานต่างถิ่น-ส่วนร่วมชุมชน

โจทย์ใหญเมืองใหม่ ‘อีอีซี’ แรงงานต่างถิ่น-ส่วนร่วมชุมชน

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้มีการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ประกอบด้วย โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการท่าเรือมายตาพุดเฟส 3 และโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

ในขั้นต่อไปคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีแผนที่จะพัฒนาศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ โดยมีพื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ในเขต ส.ป.ก.และกำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 20 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 5,700 ไร่ ระยะที่สอง 4,000 ไร่ และระยะสุดท้าย 4,919 ไร่

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศาภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นเอกชน (Market Sounding) ครั้งที่ 1 ไปเมื่อเดือน ก.พ.2566 การรับฟังความเห็นดังกล่าวได้รับการยืนยันจาก ‘คณิศ แสงสุพรรณ’ ที่ปรึกษาพิเศษ สกพอ.ว่ามีบริษัทสนใจเข้ามาลงทุน เช่น กลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จํากัด (มหาชน) หรือ BDMS สนใจด้านการลงทุนธุรกิจการแพทย์ ส่วนบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ SCG สนใจในด้านเทคโนโลยีการเชื่อมโยงระบบอินเตอร์เน็ต (IOT)

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและ MUFG Bank ได้ให้ความสนใจในธุรกิจด้านเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่โครงการ ส่วนบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) สนใจในด้านการลงทุนโครงการสร้างพื้นฐาน และบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT พร้อมจะสนับสนุนการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่โครงการ

นอกจากนี้ สกพอ.ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นหน่วยงานในพื้นที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการดังกล่าวเม่อวันที่ 10 มี.ค.2566 โดยมีหน่วยงานในท้องถิ่นเข้าร่วม เช่น เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ สถานีตำรวจภูธรห้วยใหญ่ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชลบุรี กำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และประชาชนในพื้นที่ รวม 150 คน

การจัดเวทีครั้งนี้ สกพอ.ได้เผยแพร่ข้อมูลว่าประชาชนทั้งหมดเห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ศูนย์ธุรกิจ EEC และ เมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เพื่อรองรับการทำธุรกิจที่สนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนรองรับกิจการพาณิชยกรรม และที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม เมืองใหม่อีอีซี

อัตตพล เกิดทอง กำนันตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่รับรู้และรับทราบว่าจะมีโครงการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่ โดย สกพอ.มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

โดยชาวบ้านในพื้นที่มีความคาดหวังว่าโครงการพัฒนาเมืองใหม่น่าอยู่นั้นจะนำความเจริญเข้ามาสู่ชุมชน สร้างงานให้กับคนในพื้นที่และโอกาสในการทำธุรกิจ รวมทั้งยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ทุกคนดีขึ้นด้วย

ขณะเดียวกันส่วนหนึ่งยังมีความกังวลถึงผลกระทบของนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามารวมถึงคนต่างถิ่นที่เข้ามาหางาน ซึ่งทาง สกพอ.มีการทำโครงการที่พัฒนาหลักสูตรการเรียนเด็กในพื้นที่และยืนยันว่าจะพิจารณาคนในพื้นที่ก่อน

“ในฐานะคนในพื้นที่อยากให้การพัฒนาโครงการเมืองใหม่น่าอยู่ที่จะเกิดขึ้นนี้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนด้วย โดยให้โอกาสเด็กและคนในพื้นที่ในการประกอบธุรกิจ ค้าขายและมีงานทำให้ชุมชนสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน”

สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2565 โดย สกพอ.ต้องการให้เป็นหนึ่งในโครงการเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในพื้นที่ EEC 

รวมทั้งตั้งเป้าหมายเป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 ของโลก และเป็นต้นแบบเมืองน่าอยู่อัจฉริยะสำหรับการพัฒนาเมืองใหม่ทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมา สกพอ.มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค พัฒนาให้เป็นเมืองธุรกิจควบคู่กรุงเทพฯ ที่มีระบบนิเวศทางธุรกิจที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติ นวัตกรรม และเทคโนโลยี และเป็นเมืองแห่งอนาคตรองรับวิถีชีวิต และการทำงานของคนรุ่นใหม่ 

นอกจากนี้ สกพอ.คาดว่าจะเกิดการสร้างงานทางตรงได้ไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง มูลค่าจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท รวมถึงที่อยู่อาศัยของคนทุกกลุ่มในราคาที่เป็นเจ้าของได้ ดึงดูดให้ประชาชนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ คู่ไปกับสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

รวมทั้ง สกพอ.ได้จัดทำผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและแบ่งโซนตามกลุ่มธุรกิจหลัก แบ่งออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.ศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาคและศูนย์ราชการ

2.ศูนย์กลางการเงิน EEC

3.ศูนย์การแพทย์แม่นยำ

4.ศูนย์การศึกษา วิจัย-พัฒนา ระดับนานาชาติ

5.ศูนย์ธุรกิจอนาคต อีกทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัยชั้นดีสำหรับคนทุกกลุ่มรายได้

นอกจากนี้ ยังได้วางแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่เปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุน อาทิ ระบบไฟฟ้าและพลังาน ระบบบริหารจัดการน้ำ ระบบจัดการของเสีย ระบบคมนาคมขนส่ง ระบบดิจิทัล และระบบอุโมงค์สาธารณูปโภค