จับลักลอบค้าสารเคมีทางการเกษตรผิดกฎหมาย ที่พิษณุโลก

จับลักลอบค้าสารเคมีทางการเกษตรผิดกฎหมาย ที่พิษณุโลก

สารวัตรเกษตร ฮึ่ม! ผนึกตำรวจรวบวัตถุอันตราย สารเคมีทางการเกษตรผิดกฎหมายเมืองสองแคว มูลค่า 50,000 บาท เผย หากหลุดถึงมือเกษตรกรมูลค่าความเสียหายประเมินไม่ได้

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จ.พิษณุโลก  กรมวิชาการเกษตร  ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อป้องกันและปราบปรามขบวนการผลิตและจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่มีคุณภาพหลอกขายเกษตรกรตามนโยบายของนางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยได้ดำเนินการล่อซื้อและเข้าตรวจสอบรถยนต์ทะเบียน กต 6574 พิจิตร ณ ปั๊มน้ำมัน พีที สาขาแสงดาว อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พบสินค้า 3 รายการ ระบุ

  1. คลอร์ไพริฟอส + ไซเปอร์เมทริน จำนวน 24 ลิตร
  2. คลอร์ไพริฟอส 7 ลิตร  
  3. ชื่อการค้าฟีโน่ 919  (ไดอะซินอน) 24 ลิตร  

เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวเข้าจับกุมและขยายผลไปตรวจสอบสถานที่จำหน่าย เลขที่ 488/32 หมู่ 6 ตำบลหัวรอ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก พบผลิตภัณฑ์ ระบุ

1. คลอร์ไพริฟอส + ไซเปอร์เมทริน จำนวน 12 ลิตร

2. ชื่อการค้า ฟีโน่ 919 (ไดอะซินอน) จำนวน 24 ลิตร

3. สารเพิ่มประสิทธิภาพ ชื่อการค้า ออยพลัส จำนวน 36 ลิตร

 

จับลักลอบค้าสารเคมีทางการเกษตรผิดกฎหมาย ที่พิษณุโลก จับลักลอบค้าสารเคมีทางการเกษตรผิดกฎหมาย ที่พิษณุโลก จับลักลอบค้าสารเคมีทางการเกษตรผิดกฎหมาย ที่พิษณุโลก

 

 

 

นายละเอียด  ปั้นสุข  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2  กล่าวว่า  การดำเนินการครั้งนี้ของสารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตรและเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้สามารถรวบของกลางได้รวมมูลค่าประมาณ 50,000 บาท  โดยหากเกษตรกรนำวัตถุอันตรายดังกล่าวไปใช้จะมีผลกระทบต่อการส่งออกผักและผลไม้ของประเทศไทยที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้   เนื่องจากวัตถุอันตรายต้องสงสัยว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พนักงานเจ้าหน้าที่ได้อายัดไว้และได้เก็บตัวอย่างสิ่งต้องสงสัยที่พบส่งวิเคราะห์ ณ ห้องปฏิบัติการ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 พิษณุโลก กรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และฝ่าฝืนกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

มาตรา 43 ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีโทษตามมาตรา 74 วรรคหนึ่ง ระวางโทษไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 23 วรรค 1 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 มีโทษตามมาตรา 73 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 45 ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 (4) วัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ มีโทษตามมาตรา 78 วรรคหนึ่ง ระวางโทษไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ