พาณิชย์ ถกจีน ขจัดอุปสรรคส่งออกผลไม้ไทย ดันยอดเข้าเป้าเพิ่ม 10 %

พาณิชย์ ถกจีน ขจัดอุปสรรคส่งออกผลไม้ไทย ดันยอดเข้าเป้าเพิ่ม 10 %

“ปลัดพาณิชย์”นำทีมสำรวจด่านโม่ฮาน จีน ทั้งทางบกและรถไฟลาว-จีน ถกผู้บริหารศุลกากร อ้อนเปิดทางอำนวยความสะดวกนำเข้าผลไม้ไทย รองรับปริมาณผลผลิตผลไม้เพิ่มขึ้น 3 % รับขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีน ยังไม่เป็นที่นิยม เพราะต้นทุนสูง ชี้เป็นปัญหาร่วมทุนของลาว-จีน

ประเทศจีนถือเป็นตลาดผลไม้สำคัญของไทย โดยในปี 2565 ไทยครองแชมป์อันดับ 1 ประเทศที่จีนนำเข้าผลไม้มูลค่าสูงสุด ปริมาณการนำเข้าที่2.17ล้านตันมูลค่า 4,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น3.72 % โดยการการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน ทั้งแบบสด แช่แข็ง แห้ง แปรรูป ผ่าน 3 ทาง โดยทางเรือ 51% ทางบก 48% และทางอากาศโดยเครื่องบิน 0.54% ซึ่งการขนส่งทางบก เป็นเส้นทางผู้ส่งออกไทยนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้นทุนขนส่งถูกกว่า

เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ถือเป็นมณฑลสำคัญในการนำเข้าผลไม้ของไทย โดยในปี 2565 ไทยส่งออกผลไม้ไปยังเมืองคุนหมิง 3 ทางคือ ทางอากาศผ่านสายการบิน 2.ทางบกผ่านทางด่านโม่ฮาน และ3.ทางรถไฟลาว-จีน (เปิดใช้เดือนพ.ย.2565 ) รวม 276,000 ตัน ซึ่งเส้นทางหลักที่สำคัญคือ ส่งออกผ่านทางบกผ่าน คือ ด่านโม่ฮาน เป็นด่านรถบรรทุก ปริมาณ 270,000 ตัน และด่านรถไฟโม่ฮาน ซึ่งเปิดใช้บริการเมื่อเดือนพ.ย.2565 จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 3,700 ตัน

เพื่อเป็นการรองรับปริมาณผลไม้ไทยในฤดูผลไม้ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้ปริมาณผลไม้ไทยจะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6,780,000 ตัน เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อน ทำให้กระทรวงพาณิชย์ โดย”กีรติ รัชโน “ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และคณะ ได้เดินทางเดินทางเยือนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน สำรวจด่านโม่ฮาน และด่านรถไฟโม่ฮาน ในระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือกับหน่วยงานผู้บริหารด่านศุลกากร เพื่อขอให้ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ตลาดจีน พร้อมตรวจสอบพื้นที่ลานตรวจสอบจำเพาะของสินค้าผลไม้ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งในฤดูผลไม้ของไทยผ่านด่านสำคัญของจีน

พาณิชย์ ถกจีน ขจัดอุปสรรคส่งออกผลไม้ไทย ดันยอดเข้าเป้าเพิ่ม 10 %

 

 

เนื่องจากที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาการส่งออกผลไม้ไปจีนจากนโยบาย Zero-COVID ของจีน ที่มีการตรวจตราผลไม้อย่างเข้มงวดตามด่านนำเข้าหลายแห่ง จนรถขนส่งผลไม้ไทยที่รอตรวจสอบต้องจอดตกค้างที่บริเวณด่านชายแดนจีน เป็นเวลาหลายวันส่งผลให้ผลไม้เน่าเสีย สร้างความเสียหายให้กับผู้ส่งออก โดยปัญหานี้เกรงกันว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อผลไม้ยอดนิยมส่งออกของไทยที่ปีนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาด

“กีรติ รัชโน “ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ด่านทางบกโม่ฮาน เป็นด่านรถบรรทุก เดิมการจราจรเข้า-ออก ค่อนข้างหนาแน่นจากการเดินรถช่องทางดียว โดยในช่วงฤดูกาลผลไม้จะมีรถเข้าออกด่านประมาณ 500 คันต่อวัน และเจ้าหน้าที่จะต้องทำงานล่วงเวลาถึง 20.00-21.00 น. แต่ปัจจุบันจีนเปิดช่องทางเดินรถเพิ่ม (เข้า-ออก คนละช่องทาง) ส่งผลให้การระบายรถขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันทางการจีนได้ยกเลิกมาตรการ Zero Covid โดยไม่ตรวจกรดนิวคลีอิกทั้งคนขับรถและสินค้าแล้ว

ส่วนด่านรถไฟโม่ฮาน สามารถนำเข้าผลไม้ด้วยตู้ Cold chain ได้ โดยมีเที่ยวรถไฟลาว-จีนขนส่งสินค้าเข้าจีน 7 ขบวนต่อวัน (Cold chain และ Non Cold chain) และลานตรวจจำเพาะสินค้า มีช่องตรวจสินค้าผลไม้ ธัญพืช และสัตว์น้ำแช่เย็น รวมทั้งสิ้น 26 ช่องตรวจ แบ่งเป็นช่องตรวจจำเพาะสินค้าผลไม้ 15 ช่องตรวจ ธัญพืช 7 ช่องตรวจ และสัตว์น้ำแช่เย็น 4 ช่องตรวจ ปัจจุบันเปิดใช้งานเฉพาะลานตรวจสินค้าผลไม้ ขณะที่ลานตรวจสินค้าธัญพืชและสัตว์น้ำแช่เย็น หน่วยงาย GACC ของจีนได้เข้ามาทำการตรวจรับการก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะประกาศให้ลานดังกล่าวสามารถนำเข้าสินค้าเฉพาะที่เกี่ยวข้องได้ในเร็วๆนี้

พาณิชย์ ถกจีน ขจัดอุปสรรคส่งออกผลไม้ไทย ดันยอดเข้าเป้าเพิ่ม 10 %

โดยตั้งแต่มีการเปิดใช้งานลานตรวจจำเพาะสินค้าผลไม้เมื่อปลายปี 2565 จนถึงวันที่ 14 มี.ค.2566 มีการขนส่งผลไม้โดยผ่านเส้นทางรถไฟลาว-จีนทั้งสิ้น 22 ล็อต 157 ตู้ ปริมาณรวม 3,675 ตัน ผลไม้ ได้แก่ ทุเรียน 4 ตู้ ลำไย 90 ตู้ กล้วย 53 ตู้ และผลไม้อื่นๆ เช่น ส้มโอ มะพร้าวและมะม่วง 10 ตู้ โดยคาดว่าในช่วงฤดูกาลผลไม้ที่จะถึงนี้ จะมีปริมาณผลไม้ไทยผ่านเส้นทางนี้เพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้ผลไม้ไทยกำลังออกสู่ตลาด จะต้องคอยอำนวยความสะดวก และหากมีปัญหาติดขัด ต้องเข้าไปแก้ไขทันที หากจำเป็นต้องแก้ไขในระดับนโยบาย ก็ให้รายงานเข้าส่วนกลางอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคได้ทันการณ์ และไม่กระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทย”  นายกีรติ กล่าว  

 

อย่างไรก็ตามอุปสรรคที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ส่งออกคือ ต้นทุนการขนส่งทางรถไฟลาว-จีน มีต้นทุนที่สูงกว่าทางบก โดยเฉพาะปัญหาค่าขนส่งการขนถ่ายสินค้า ไปยังรถไฟลาว-จีน ได้ แต่การขนส่งผ่านทางรถไฟมีข้อดีคือ ระยะเวลาการขนส่งสั้น สามารถเชื่อมต่อไปยังระบบโลจิสติกส์ของจีนได้รวดเร็ว ส่งผลดีต่อการส่งออกผลไม้ของไทยที่เป็นสินค้าเน่าเสียได้ง่าน โดยปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องของการร่วมทุนของจีนและลาว ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการหารือกันเพื่อให้ข้อสรุปคาดว่าจะสามารถลดลงในได้ในอนาคต

โดยนางจันทร์จิรา อนันต์ชัยพัฒนา ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการไทยไทยในเมืองคุนหมิง กล่าวว่า สินค้าไทยเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีนโดยเฉพาะผลไม้ไทย อาหารไทย ขนมขบเคี้ยว ซึ่งสินค้าของไทยขนส่งผ่านทางเรือ และทางบก เพราะต้นทุนถูกกว่าทางอื่นๆ ซึ่งในช่วงโควิดการขนส่งสินค้าเข้าประเทศจีนมีความเข้มงวดจากนโยบายซีโร่โควิด โดยเฉพาะต้นทุนการขนส่งดีดตัวสูงขึ้นมาก รวมทั้งปัญหาด้านเอกสารการนำเข้า อย่างไรก็ตามหลังการเปิดประเทศผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวก็ทำให้การขนส่งสะดวกมากขึ้น แต่ต้นทุนการขนส่งก็ยังสูงอยู่จึงอยากให้ภาครัฐช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดไปจีน ตั้งเป้าเพิ่ม 10% จากปี 65 มูลค่า 4,287 ล้านดอลลาร์หากการขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ไม่มีปัญหาก็จะให้การขนส่งผลไม้ไทยไปจีนได้สะดวกรวดเร็วเป็นแต้มต่อผลไม้ไทยและ หากว่าปลดล๊อคปัญหาต้นทุนสูงจากการขนส่งด่านรถไฟโม่ฮาน ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขนส่งสินค้าที่สำคัญช่วยยอดส่งออกผลไม้ได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะปัจจุบันตลาดผลไม้ในจีนมีอัตราการแข่งขันที่นับวันจะยิ่งสูงมากยิ่งขึ้น จากคู่แข่งหลายประเทศที่ต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาดจีน