‘บิ๊กคอร์ปไทย’ลุยลงทุนซาอุฯชิงโอกาสจากวิชั่น 2030
เอกชนไทย ทยอยลงทุนในซาอุฯ ชิงโอกาสธุรกิจจากวิชั่น 2030 หลังฟื้นมสัมพันธ์ 2 ประเทศ “เอสซีจี” เข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อขยายธุรกิจ “ซีพีเอฟ” สนลงทุนด้านความมั่นคงอาหาร “มิตรผล” ลงทุนวัสดุทดแทนไม้ “รพ.กล้วยน้ำไทย” เห็นช่องธุรกิจบริการสุขภาพ “อินเด็กซ์” ลุยจัดอีเวนท์ใหญ่
Key Points
- ไทยและซาอุดิอาระเบียได้ฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตมาครบ 1 ปี แล้ว
- Vision 2030 ของซาอุดิอาระเบียจะสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทไทย
- SCG เข้าไปตั้งสำนักงานเพื่อดูแลการขยายธุรกิจในซาอุดิอาระเบีย
- CPF มั่นใจศักยภาพของตลาดและวิสัยทัศน์ผู้นำทำให้มั่นใจเข้าไปทำตลาด
หอการค้าไทยจัดงานสัมมนา “เปิดโอกาสการค้าซาอุดิอาระเบียกับหอการค้าไทย Trade-Travel-Investment” เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2566 เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจหลังไทยฟื้นความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบีย
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยได้มีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศซาอุดีอาระเบียในช่วงต้นปี 2565 ถือเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของสองประเทศในทุกมิติ โดยเฉพาะภาคการค้าการค้าระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่ารวม 323,113 ล้านบาท เทียบปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 37.64% ซึ่งซาอุฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 17 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ส่วนการท่องเที่ยวในปี 2565 มีนักท่องเที่ยวซาอุฯ 96,389 คน สร้างรายได้ 8,000 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถึง 150,000 คน สร้างรายได้ 12,000 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ถือเป็นการพลิกฟื้นประวัติศาสตร์ที่ทั้ง 2 ประเทศจะสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ซีพีเอฟตัดสินใจไปทำธุรกิจในซาอุฯ โดยมี 3 เหตุผลหลัก ประกอบด้วย
1.ซาอุฯ มีศักยภาพหลายด้านทั้งการเป็นศูนย์กลางและเป็นผู้นำของกลุ่ม GCC และขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากในตะวันออกกลาง มีประชากร 35 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 50 ล้านคนในปี 2030 รวมทั้งยังเชื่อมโยงตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
2.ผู้นำ วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ เนื่องจากซาอุฯ เป็นประเทศที่มีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และมีการกำหนดเป้าหมายกลยุทธ์ในการดำเนินงาน vision 2030 ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งมี 6 ประเด็นหลักที่ตอบโจทย์ซีพีเอฟ ได้แก่
การเพิ่มสัดส่วนธุรกิจโต 60% ของจีพีดี , มูลค่าส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมัน เพิ่มเป็น 50% ของจีพีดี , การจับจ่ายใช้สอยด้านวัฒนธรรมและบันเทิง เพิ่มเป็น 6% , การเพิ่ม FDI เป็น 5.7% , การเพิ่มความสามารถในการรองรับท่องเที่ยว 30 ล้านคน และการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
“วิสัยทัศน์การส่งมอบอาหารปลอดภัยและมีสารอาหารให้คนทั้งประเทศได้มั่นคงและยั่งยืน ในขณะเดียวกันในช่วงภาวะฉุกเฉินจะต้องจัดหาอาหารได้อย่างรวดเร็วและราคาเข้าถึงได้ โดยเป้าหมายปี 2030 จะเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารทะเลจาก 1 แสน เป็น 6 แสนตันต่อปี และส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลต่อหัว 15 กก.ต่อคน เพิ่มการผลิตไก่เป็น 1.7 ล้านตันต่อปี”
3. การมีโครงสร้างการบริหารที่เข้มแข็งจากทั้งผู้บริหารระดับสูง และมีกองทุนที่สนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร โดยบริษัทเพื่อการลงทุนในด้านการเกษตรและปศุสัตว์เพื่อความยั่งยืนทางอาหาร (SALIC)
‘เอสซีจี’เข้าไปตั้งสำนักงาน
นายอบิจิต ดัตต้า กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า โควิด-19 ได้เกิดดิสรัปชั่นในธุรกิจต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่เอสซีจี ซึ่งก็ได้มีการปรับองค์กรให้สอดรับกับสถานการณ์ ในด้านของการเป็นซัพพลายเชน โดย SCG International ได้เปิดสำนักงานที่ซาอุฯ และได้รับการอนุมัติแล้ว
“สำนักงานดังกล่าวจะเป็นศูนย์ในการขยายการธุรกิจของเอสซีจีโดยมองว่าสินค้าที่มีโอกาสของเอสซีจี คือ ซีเมนต์ซึ่งจะเป็นซัพพลายเชนไปยังตลาดอื่นๆในแถบนี้ได้ ธุรกิจด้านแพ็จเก็จจิ้ง วัสดุก่อสร้าง และธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้ารีไซเคิล” นายอบิจิต กล่าว
“กล้วยน้ำไทย”ชี้ช่องธุรกิจสุขภาพ
นายศรัณยู ชเนศร์ รองประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทย กล่าวว่า จากกการเดินทางไปซาอุฯ 2 ครั้ง ได้มองเห็นโอกาสธุรกิจสุขภาพ (Wellness) เพราะคนซาอุฯ เป็นคนที่มีกำลังซื้อสูงและมองเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ จึงน่าจะเป็นโอกาสของไทยในเข้าไปลงทุนด้านสุขภาพในซาอุฯ โดยเฉพาะธุรกิจสปา หรือการนวด ธุรกิจโรงพยาบาล ซึ่งไทยมีจุดแข็งในเรื่องนี้
รวมทั้งที่ผ่านมาคนซาอุฯ มาเมืองไทยนอกจากการท่องเที่ยวก็จะเป็นเรื่องของสุขภาพ อีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ธุรกิจเครื่องสำอางค์ โดยปัจจุบันทางซาอุฯ อนุญาตให้ผู้หญิงชาวซาอุฯ สามารถที่จะเปิดหน้าได้แล้ว ซึ่งผู้หญิงซาอุฯ ส่วนใหญ่เป็นคนที่ดูแลผิวพรรณ จึงให้ความสำคัญด้านความงามมากจึงเป็นธุรกิจที่น่าจะเป็นโอกาสของไทยอีกธุรกิจหนึ่ง
โอกาสไทยไปลงทุน3ธุรกิจ
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวในหัวข้อ “บทบาทของ EXIM Bank ในการสนับสนุนผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังซาอุดีอาระเบีย” ว่า ซาอุฯ ถือเป็นประตูการค้าการลงทุนเปิดใหม่ เพราะซาอุเป็นหนึ่งชาติของผู้นำของประเทศตะวันออกลาง และมีบทบาทสำคัญในองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เป็นศูนย์กลางศาสนาอิสลามและประสู่ดินแดนอาหรับ
ดังนั้นการที่นักธุรกิจไทยจะได้เข้าไปลงทุนในซาอุฯ นั้น EXIM Bank พร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ซึ่งการลงทุนในซาอุฯ ผู้ประกอบการไทยจะต้องโชว์จุดขาย ทำสินค้าให้เป็นที่รู้จักเพื่อกระตุ้นยอดขาย ด้วยการประชาสัมพันธ์ ทำการตลาด ออกงานแสดงสินค้า พร้อมการใช้จุดแข็งของผู้ประกอบการไทยเพื่อออกไปลงทุน
ทั้งนี้ ธุรกิจที่ไทยมีโอกาสลงทุนในซาอุฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1.ชิ้นส่วนยานยนต์ ไทยมีประสบการณ์ในซาอุฯ มากว่า 20 ปี โดยตลาดมีแนวโน้มเติบโต เช่น อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ รวมทั้งเริ่มมีลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในซาอุฯ
2.ธุรกิจบริการ ไทยมีโอกาสเข้าไปร่วมทุนหรือรับจ้างบริหารโรงแรม โรงพยาบาล Saudi Vision 2030 ซาอุฯ มีแผนพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนจะเพิ่มรายได้ท่องเที่ยวเป็น 10% ของ GDP
3.ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ซาอุฯ มีแผนก่อสร้างเมกะโปรเจ็กต์ เช่น การพัฒนาเมืองแห่งอนาคต การพัฒนาตามแผน Saudi Arabia GreenInitiative
“อินเด็กซ์”จัดงานใหญ่ในซาอุฯ
นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2566 บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) ยังมีแผนร่วมกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงสินค้า Thailand Mega Fair & Festival 2023-The Kingdom of Saudi Arabia เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และศักยภาพของประเทศไทยสู่สายตาชาวซาอุฯ
ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายเพิ่มโอกาสใหม่ทางธุรกิจ ขยายโอกาสทางการค้าการลงทุน การหาคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้า, ขยายดิสทริบิวเตอร์ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปยังประเทศซาอุฯ เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายในตลาดซาอุฯ และตะวันออกกลาง โดยกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13-16 ธ.ค.2566 ณ กรุงริยาด และถือเป็นงานแสดงสินค้าและบริการของไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในซาอุฯ อีกด้วย
“มิตรผล”สนลงทุนวัสดุทดแทนไม้
นางอัมพร กาญจนกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ได้เดินทางไปประเทศซาอุฯ พร้อมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมามองเห็นโอกาสของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในซาอุฯ โดยเฉพาะภายใต้วิชั่นชาติ 2030 ที่เปิดรับนักลงทุนต่างชาติและหนึ่งในนั้นคือความมั่นคงทางด้านอาหาร
ทั้งนี้ ซาอุฯ นำเข้าสินค้าน้ำตาลจากประเทศบราซิลมากเป็นอันดับ 1 โดลกลุ่มมิตรผลเห็นโอกาสที่จะเข้าไปทำธุรกิจ รวมถึงกลุ่มธุรกิจวัสดุทดแทนไม้หรือวัสดุไม้แผ่น (WOOD SHEET) ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง เรียลเอสเตท เฟอร์นิเจอร์ การตบแต่งต่างๆ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้น่าจะเติบโตตามนโยบายของประเทศซาอุฯ
นักท่องเที่ยวซาอุฯปีนี้1.5แสนคน
นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุฯ และจากการที่ไทยเปิดประเทศ จะเป็นโอกาสของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และรักษาพยาบาล เพราะที่ผ่านมาแม้มีปัญหาความสัมพันธ์ทางการทูต แต่มีชาวซาอุฯ มารักษาพยาบาลปี 2560 อยู่ที่ 42,000 คน และปี 2565 พุ่งเป็นเกือบ 1 แสนคนทันที สร้างรายได้กว่า 8,000 ล้านบาททั้งที่ที่เข้ามาเพื่อรักษาพยาบาลและท่องเที่ยว
สำหรับตลาดนักท่องเที่ยวซาอุฯ ถือเป็นตลาดดาวรุ่งของไทย ใช้จ่ายเฉลี่ยต่อหัวเกือบ 1 แสนบาทต่อทริป ส่วนใหญ่เดินทางแบบครอบครัว โดยนักท่องเที่ยวซาอุฯชอบแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล รวมทั้งยังเดินทางแบบครอบครัวใหญ่ที่บริษัททัวร์ต้องศึกษาหาช่องทางให้ดี เพราะการเดินทางของคนซาอุฯ ส่วนใหญ่ 90% เดินทางด้วยตนเอง จึงต้องการข้อเสนอเฉพาะที่พัก หรือ ท่องเที่ยวในประเทศ
ทั้งนี้ ในปี 2566 ได้วางเป้าหมายนักท่องเที่ยวซาอุฯอยู่ที่ 150,000 ราย รายจ่ายเฉลี่ย 80,000 บาทต่อทริป แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มครอบครัว 2.กลุ่มคนวัยทำงาน 3.กลุ่มคนรักสุขภาพ 4.กลุ่มคู่รักฮันนีมูน
“ตลาดซาอุฯ ถือเป็นเค้กก้อนใหญ่ด้านการท่องเที่ยวของไทย เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และชาวซาอุฯ ชอบมาเที่ยวเมืองไทยเพราะมีความหลากหลายของสถานที่ท่องเที่ยว คนไทยมีอัธยาศัยไมตรีและมีความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น"