ประยุทธ์เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ถกเสถียรภาพการคลัง ชี้ไม่มีงบโครงการใหม่
ประชุม ครม.ก่อนสงกรายนต์ "ประยุทธ์" เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ สศช.,ธปท., สศค. และสำนักงบฯ ถกเสถียรภาพการเงินการคลังประเทศ ระบุไม่มีงบประมาณมาทำโครงการใหม่แล้ว ต่อจากนี้ต้องใช้นโยบายพุ่งเป้า ไม่ใช่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เรียก 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ มารายงานสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทย เสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศไทย
นายอนุชา บูรพไชยศรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สศช.ได้รายงานภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2566 ถึง 2567 จึงต้องเฝ้าระวังว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลซึ่งจะต้องกระตุ้นการส่งออกให้เป็นผล ที่จะทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างเหมาะสม สำหรับภาวะเงินเฟ้อของไทยขณะนี้อยู่ในระดับไม่สูงมากนักและค่อนข้างต่ำ โดยอยู่ในอันดับ 20 ของโลกและอันดับที่ 2 ของอาเซียนจึงไม่เป็นข้อกังวล
"โดย สศช.และธปท. ยืนยันว่างานเงินเฟ้อในปัจจุบันอยู่ที่ 2.8% ได้กลับมาอยู่ในกรอบที่ธปท.กำหนด 1-3% และหวังว่าจะมีโอกาสลดลงมากกว่านี้อีกด้วย"
ขณะเดียวกัน ธปท.ได้รายงานว่าประเทศขณะนี้ไม่มีความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเงินการคลัง โดยหนี้ต่างประเทศไม่อยู่ในอัตราที่สูงเกินไป เงินคงคลังอยู่ในระดับที่เหมาะสม สถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง และนโยบายที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ ซึ่งการกู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 เพื่อนำมาดูแลสุขภาพประชาชนและกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นนโยบายที่เหมาะสมในช่วงที่ผ่านมา
"สำหรับในช่วงต่อจากนี้ จะไม่ใช่การกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา แต่ต้องจัดทำนโยบายที่พุ่งเป้าไปที่ประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น เพราะฉะนั้นนโยบายที่ครอบคลุมประชาชนทั้งหมดไม่พุ่งเป้าถือเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสมสำหรับการใช้งบประมาณ"
ทั้งนี้ ในที่ประชุมครม.ได้มีการหยิบยกตัวอย่างของต่างประเทศ ที่ดำเนินการให้เศรษฐกิจดีขึ้นแต่สุดท้ายไม่เป็นผล ทำให้เกิดปัญหาความผันผวนต่างๆ เห็นได้จากที่ทั่วโลกมีการคุมอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำนานพอสมควร แต่เมื่อ ต้องมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกินไป ทำให้เกิดภาวะช็อค เห็นได้จากที่มีสถาบันการเงินล้มละลายในสหรัฐฯและยุโรป เป็นตัวอย่างของการดำเนินนโยบายการคลังที่ทำให้เกิดปัญหา
นอกจากนี้ ธปท.รายงานภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐบาลของประเทศไทยอยู่ที่ 8.5% และคาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2566 อาจจะขยับไปอยู่ที่ 8.75% ยังเป็นตัวเลขที่ไม่เกินมาตรฐานสากลที่ 10% ซึ่งกรณีที่เกินกว่า 10% จะทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตต่างๆไม่ว่าจะเป็นมู้ดดี้ หรือฟิตเรตติ้ง จับตามองตาและทบทวนลดอันดับเครดิตของ จะทำให้ การกู้เงินของประเทศมีภาระดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้น
รายได้รัฐ 5 เดือน 9.9 แสนล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า สศค.ได้รายงานผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วงห้าเดือนแรกของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.2565 - ก.พ.2566) จัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าประมาณการ โดยจัดเก็บได้ 990,000 ล้านบาทสูงกว่าเป้า 90,000 ล้านบาท และมากกว่ากว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.8%
โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากการจัดเก็บของกรมสรรพากร ในภาษีบุคคลธรรมดานิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่กรมสรรพาสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการณ์ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลิตรละ 5 บาทเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนจากราคาขายปลีกน้ำมันโลกยังทรงตัวในระดับสูงทำให้สูญเสียรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายดังกล่าวมาหลายเดือน ทำให้ไม่ได้จัดเก็บรายได้จากส่วนนี้นับ 100,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ สำนักงบประมาณได้รายงานถึงกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ตามที่ตั้งวงเงินไว้ 3.35 ล้านล้านบาทเป็นงบประจำ งบตามสิทธิ์ และงบผูกพัน 2.9 ล้านล้านบาท และงบลงทุน 400,000 ล้านบาท ถ้าหักนโยบายสวัสดิการต่างๆ ตั้งแต่แรกเกิด ผู้สูงอายุ จะคงเหลืองบที่เป็นรายจ่ายของราชการอยู่ 220,000 ล้านบาท
ดังนั้น หากจะต้องนำงบประมาณมาดำเนินการตามนโยบายที่หลายส่วนมีการนำเสนออยู่ตอนนี้ ก็จะต้องมีการปรับใช้ ซึ่งสำนักงบประมาณรายงานต่อที่ประชุมครม.ว่าเป็นไปได้ยาก การทำโครงการใหม่ใหม่อาจจะลำบาก