การบริโภคฟื้นตัวต่อเนื่อง ใกล้เท่าช่วงก่อนโควิดระบาด
ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มี.ค.ดีดขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 สูงสุด 37 เดือน รับแรงหนุนท่องเที่ยว จับตาไตรมาส 3 จัดตั้งรัฐบาลล่าช้ามีผลต่อเศรษฐกิจ
Key Points
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงที่สุดในรอบ 37 เดือน
- มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่าการบริโภคกำลังจะกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด
- ปัจจัยเสี่ยงของการการบริโภคอยู่ที่การจัดตั้งรัฐบาลหากล่าช้าจะมีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
- เม.ย.-พ.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งลงไปในแต่ละพื้นทีา
ศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,241 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.2566 อยู่ที่อยู่ระดับ 53.8 ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และสูงสุดรอบ 37 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 48.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน อยู่ที่ 50.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 62.5 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน ก.พ.2566
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค.ที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นหลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
นอกจากนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันลดลงทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการอย่างมีนัยสำคัญ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การที่ดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นการกลับมาดีสุดในรอบ 3 ปี ใกล้กับช่วงก่อนโควิด สะท้อนว่าคนกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น มีการซื้อสินค้าคงทนถาวร เช่น บ้าน รถยนต์ เพิ่มขึ้น มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้ภาคท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยทั้งในส่วนของไทยเที่ยวไทย และต่างชาติเที่ยวไทย
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก เนื่องจากประชาชนที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้ต่ำ ยังมีการใช้จ่ายไม่มากนัก เพราะมองว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแบบ K shape
อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาส 2 ปี 2566
นอกจากนี้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเงินของโลก และสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ ต้องจับตาช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่จะมีเม็ดเงินจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งลงไปในแต่ละพื้นที่ ประกอบกับในเดือน เม.ย.เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอยมากเป็นพิเศษในช่วงนี้
ขณะเดียวกันหลังจากการเลือกตั้งในเดือน พ.ค.ผ่านไปแล้วต้องรอดูว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะผ่านไปด้วยดีหรือไม่ ไม่มีการเมืองนอกสภา รวมทั้งความชัดเจนของการมีรัฐบาลใหม่ ตลอดจนนโยบายต่างๆ ที่จะแถลงต่อสภา รวมถึงการขับเคลื่อนงบประมาณด้วย
“เศรษฐกิจไทยปีนี้ ถ้าจะโตเกิน 3.5% ไม่ง่าย เพราะหากเกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ทำให้การลงทุนไม่โดดเด่น เพราะยังไม่เห็นภาพรัฐบาลชัดเจน และงบประมาณปี 2567 จะเป็นอย่างไร และถ้าเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวช้า การส่งออกไทยชะลอตัว ก็ยิ่งทำให้คนไม่กล้าใช้จ่าย จึงต้องใช้พลังจากการท่องเที่ยวเท่านั้น ขณะนี้จึงมองว่าปีนี้น่าจะโต 3.3-3.5% แต่ต้องรอดูผลของเม็ดเงินสะพัดจากการเลือกตั้ง ถ้ามีเงินหมุนในระบบได้ไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาท จะช่วยให้เศรษฐกิจโตขึ้นได้อีก”
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือน มี.ค.2566 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่างพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ 50.5 ปรับตัวดีขึ้นในรอบ 4 ปี 1 เดือนหรือ 49 เดือน
ทั้งนี้ภาคธุรกิจมองว่า กำลังซื้อเริ่มกลับมาแล้วและเศรษฐกิจแต่ยังไม่โดดเด่น ขอรัฐบาลดูแลเรื่องพลังงานทั้งค่าน้ำและค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ควบคุมและรักษาระดับของราคาสินค้าวัตถุดิบของผู้ประกอบการให้อยู่ในระดับต่ำ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ขาดสภาพคล่อง และต้องการเข้าถึงสินเชื่อ มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องของฝุ่นควัน PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานจนกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ