ส่องเงินเดือน - สวัสดิการ ‘นายกฯ’ – ครม. ตำแหน่งสำคัญ ได้ค่าตอบแทนเท่าไหร่?
ส่องเงินเดือน - สวัสดิการ - สิทธิประโยชน์ นายกฯ-ครม. ที่ปรึกษาฯ เลขาธิการนายกฯ เผยได้รับเงินเดือน รวมค่าประจำตำแหน่ง พร้อมสวัสดิการครบครัน เบิกค่ารักษาพยาบาล สิทธิ์ในการรับบำเหน็จ - บำนาญ เบี้ยเลี้ยงเดินทางต่างประเทศ ค่าโทรศัพท์ การใช้รถประจำตำแหน่ง
การบริหารราชการแผ่นดินมีตำแหน่งฝ่ายบริหารของประเทศที่สำคัญคือฝ่ายบริหารของรัฐบาลได้แก่นายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าการบริหารงานของรัฐบาล และรัฐมนตรี ซึ่งประกอบไปด้วยรัฐมนตรีว่าการ รัฐมนตรีช่วยว่าการในกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่ในการสั่งการ นำเอานโยบายต่างๆที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาเป็นแผนบริหารราชการแผ่นดินไปขับเคลื่อนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงเป็นตำแหน่งสำคัญ ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคที่มีการหาเสียงเลือกตั้งที่มีโอกาสและความหวังที่จะได้รับชัยชนะก็เริ่มวาดหวังที่จะส่งคนของพรรคเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล หากไม่นับรวมแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ยังมีการวางรายชื่อบุคคลในบัญชีรายชื่อ หรือ “ปาร์ตี้ลิสต์” ของพรรคเพื่อเตรียมที่จะเข้ามาเป็น ครม.ในรัฐบาลหน้าหากชนะการเลือกตั้ง
ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าในตำแหน่งฝ่ายบริหารที่สำคัญนั้น อำนาจ ที่มาพร้อมกับหน้าที่และความรับผิดชอบที่มีมากและมีความสำคัญ ขณะเดียวกันในส่วนของค่าตอบแทน และสวัสดิการในการทำงานในตำแหน่งนั้นๆก็เป็นแรงจูงใจอีกอย่างหนึ่งสำหรับการทำงาน
“กรุงเทพธุรกิจ” ได้รวบรวม “ค่าตอบแทน” ที่นายกรัฐมนตรี และ ครม.จะได้รับในระหว่างการดำรงตำแหน่งทั้งในรูปแบบเงินเดือน และสวัสดิการ โดยอ้างอิงจาก คู่มือข้าราชการการเมือง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2562 โดยมีสาระสำคัญ
1.เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี
- นายกรัฐมนตรี เงินเดือน 75,590 บาท เงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท รวม 125,590 บาทต่อเดือน
- รองนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 74,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง 45,500 บาท รวม 119,920 บาทต่อเดือน
- รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ/รัฐมนตรีว่าการฯ เงินเดือน 73,240 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาทต่อเดือน รวม 115,740 บาทต่อเดือน
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงฯ เงินเดือน 72,060 บาท เงินประจำตำแหน่ง 41,500 บาท รวม 113,560 บาทต่อเดือน
2.เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง เลขาธิการฯ – รองเลขาธิการนายกฯ
- เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 63,200 บาท เงินประจำตำแหน่ง 18,500 บาท รวม 81,700 บาทต่อเดือน
- รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เงินเดือน 56,120 บาท เงินประจำตำแหน่ง 14,500 บาท รวม 70,620 บาทต่อเดือน
3.เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เงินเดือน 57,660 บาท เงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท รวม 72,660 บาทต่อเดือน
- ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 57,250 บาทต่อเดือน
- ที่ปรึกษารัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 57,250 บาทต่อเดือน
4.เงินเดือน และเงินประจำตำแหน่ง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 47,250 บาท เงินประจำตำแหน่ง 10,000 บาท รวม 57,250 บาทต่อเดือน
- รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เงินเดือน 44,310 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท รวม 49,210 บาทต่อเดือน
โดยอัตราเงินเดือนดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการการเมือง (ฉบับที่4) พ.ศ.2554 ส่วนเงินประจำตำแหน่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2538
สำหรับในส่วนของสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของนายกรัฐมนตรี ครม.และข้าราชการการเมือง ได้แก่
1. การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำนักงานเลขาธิการ มีหน้าที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ให้แก่นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้าราชการการเมืองในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี คู่สมรสนายกรัฐมนตรี คู่สมรสรองนายกรัฐมนตรี คู่สมรสรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คู่สมรสเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และคู่สมรสรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536
2. การเบิกค่ารักษาพยาบาล ข้าราชการการเมืองมีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลสำรับตนเอง บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรชึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ (บิดา คู่สมรส และบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้นบุตรบุญธรรม)
3.การรับบำเหน็จบำนาญ โดยใช้หลักเกณฑ์ในการขอรับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการ พ.ศ. 2494 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยกรณีเป็นข้าราชการการเมือง รับราชการมาไม่น้อยกว่า 1 ปีบริบูรณ์ เมื่อพ้นจากตำแหน่ง มีสิทธิได้รับบำเหน็จ
ส่วนข้าราชการการเมือง มีเวลาราชการรวมกันไม่น้อยกว่า 4 ปีบริบูรณ์ และดำรงตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นรัฐมนตรี มีสิทธิได้รับบำนาญ เดือนละ 2,000 บาท และมีเวลาราชการรวมกันครบ 10 ปีบริบูรณ์ เมื่อพ้นจากตำแหน่งมีสิทธิได้รับบำนาญ
4.การเบิกจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ)
- นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง
- เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และที่ปรึกษา รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 6,000 บาทต่อรอบเดือน
- โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 4,000 บาทต่อรอบเดือน
- ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินอัตราคนละ 2.000 บาทต่อรอบเดือน\
กรณีการเดินทางไปราชการต่างประเทศชั่วคราว การประชุมระหว่างประเทศการจัดงาน หรือการเยือนของบุคคลสำคัญ ให้เบิกจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และค่าบริการเสริมสำหรับแต่ละกรณีในครั้งนั้น เพิ่มได้อีกไม่เกินหนึ่งเท่าของอัตรา
5. สามารถขอใช้รถประจำตำแหน่ง สำหรับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2526
6.กรณีเดินทางไปราชการต่างประเทศ สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เบี้ยเลี้ยงการเดินทาง ค่าที่พัก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการแต่งกาย และค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ ตามพระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วนการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางและค่าเช่าที่พักในการเดินทาง
ทั้งนี้อัตราการเบิกจ่ายมากน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งของผู้เดินทาง และประเทศปลายทาง