เสียงร้อง ส.อ.ท.จี้รัฐเจรจาโรงไฟฟ้าเอกชน ยกเลิก ‘ค่าพร้อมจ่าย’ แก้ค่าไฟแพง
กระแสเสียงร้องให้ยกเลิก "ค่าความพร้อมจ่าย" มีมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาค่าไฟแพง ส.อ.ท.เสนอเจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชน ยกเลิกค่าความพร้อมจ่ายในสัญญารับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. เผย ปัจจุบันทำสัญญากับ IPP รวม 12 ราย กำลังการผลิต 1.4 หมื่นเมกะวัตต์
Key Points
- ส.อ.ท.เรียกร้องให้ภาครัฐเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนเพื่อยกเลิก 'ค่าความพร้อมจ่าย' จะช่วยแก้ปัญหาค่าไฟแพง
- 'ค่าความพร้อมจ่าย' ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณค่า Ft ซึ่งแม้เอกชนไม่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็จะได้รับส่วนนี้
- ภาคเอกชนมองว่าประชาชนต้องรับภาระค่าไฟแพง แต่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนมีผลประกอบการที่ดีมาตลอด
- ปัจจุบัน กฟผ.ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจาก IPP รวม 12 บริษัท มีกำลังการผลิตรวม 14,873 เมกะวัตต์
การปรับค่าไฟฟ้าในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2566 มีการแสดงความไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีการปรับค่าไฟฟ้าขึ้นในส่วนของที่อยู่อาศัยและมีการวิจารณ์ถึงค่าไฟแพง
รวมทั้งมีหลายพรรคการเมืองที่พยายามหาเสียงถึงนโยบายลด ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพื่อสร้างคะแนนนิยมในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยนำเสนอแนวทางการลดค่าไฟฟ้า เช่น การเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) เพื่อลดค่าพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้ผู้ผลิตไฟฟ้าแม้จะไม่มีการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า
ทั้งนี้ องค์ประกอบค่า Ft มีหลายส่วนและส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน จะเป็นประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครอบคลุมประมาณการค่าซื้อไฟฟ้าจากการบริษัทในเครือ กฟผ. ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่ (IPP) ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และค่าซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
รวมทั้งครอบคลุมค่าซื้อไฟฟ้าในรูปแบบอื่นๆ และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าแต่ละรายประกอบด้วยส่วนของ
1.ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payments : AP)
2.ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments : EP)
3.ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE) ในส่วนของโรงไฟฟ้าเอกชน
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนต้องการให้กระทรวงพลังงาน มองแนวทางการแก้ปัญหาค่าไฟแพงในเชิงโครงสร้าง ซึ่งภาครัฐไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย โดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนที่สูงของค่าไฟฟ้าสูงขึ้น เช่น “ค่าความพร้อมจ่าย” (Availability Payments : AF)
สำหรับ "ค่าความพร้อมจ่าย" เป็นส่วนหนึ่งของการคำนวนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ซึ่งอยู่ในสัญญาที่ภาครัฐทำสัญญารับซื้อไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่งคำนวณจากเงินลงทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าและค่าบำรุงรักษาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
นอกจาก “ค่าความพร้อมจ่าย” แล้วยังมีต้นทุนแฝงอื่นที่มีผลทำให้ค่าไฟแพง คือ ภาวะซัพพลายเกินดีมานด์กว่า 50% อีกทั้งสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เหลือ 30% เศษ ขณะที่สัดส่วนของเอกชนรวมการนำเข้าสูงถึง 60% เศษ
"ประชาชนคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอกชนหลายราย ต่างก็มีผลประกอบการที่มีกำไร และเติบโตกันถ้วนหน้า”
ส่วน กฟผ.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจหลักในการดูแลไฟฟ้าของประเทศ เหลือสัดส่วนเพียง 30% เศษ และต้องแบกภาระหนี้ร่วม 1 แสนล้านบาท จากการแบกภาระอุ้มค่า Ft ในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงขอให้แต่ละพรรคการเมืองช่วยหาทางออกและคำตอบที่ดีให้ประชาชน
รายงานข่าวจาก กฟผ.ระบุว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ซึ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย
1.การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ รวม 5,720 เมกะวัตต์ ครอบคลุมการผลิตด้วยพลังงานน้ำเป็นส่วนใหญ่ และเชื้อเพลิงถ่านหินลิกไนต์ โดยรับซื้อไฟฟจาก โรงไฟฟ้าพลังน้ำเทิน-หินบุน , โรงไฟฟ้าพลังน้ำห้วยเฮาะ , โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 , โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำงึม 2
โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี , โรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบ 1 , โรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย , บริษัท ไฟฟ้า หงสา จำกัด (โรงไฟฟ้าหงสา) และโครงการสายส่งเชื่อมโยง ไทย-มาเลเซีย (HVDC)
2.ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) จำนวน 14,873 เมกะวัตต์ ครอบคลุมเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และถ่านหินบีทูบินัส
เป็นการทำสัญญารับซื้อจาก 12 บริษัท ประกอบด้วย บริษัทผลิตไฟฟ้าขนอม จำกัด , บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) , บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
บริษัทโกลว์ ไอพีพี จำกัด , บริษัทอีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเล็คตริค จำกัด , บริษัทบีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด , บริษัทราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด , บริษัท เก็คโค่-วัน จำกัด
บริษัทกัลฟ์เพาเวอร์เจนเนอเรชั่น จำกัด , บริษัทกัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด , บริษัทกัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด และบริษัทกัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด
3.ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก รวมกำลังการผลิต 9,470 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น
ประเภทสัญญา Firm ระบบ Cogeneration 75 บริษัท และพลังงานหมุนเวียน 17 บริษัท
ประเภทสัญญา Non-firm ระบบ Cogeneration 6 บริษัท และพลังงานหมุนเวียน 57 บริษัท