เก็บ ‘กระสุน’ รับมือวิกฤติ อย่าโหมแต่ประชานิยม! 

เก็บ ‘กระสุน’ รับมือวิกฤติ อย่าโหมแต่ประชานิยม! 

ธปท. แสดงความเป็นห่วงในเรื่องการทำนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมแบบเหวี่ยงแห เพราะแม้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ในระยะยาว จะสร้างผลกระทบมหาศาล

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ก็ยิ่งเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมีลักษณะของการ “ลด” และ “แจก” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวกับการ “ลดค่าไฟ” หรือ “การแจกเงิน” ในรูปแบบต่างๆ แม้แต่ละพรรคจะพยายามอธิบายถึงที่มาของแหล่งเงิน ซึ่งจะนำไปใช้ในการทำนโยบาย แต่ถ้าถามความเห็นของนักวิชาการหรือนักเศรษฐศาสตร์แล้ว ต้องบอกว่ายังมีคำถามตัวโตๆ อยู่หลายจุด ถึงความเป็นไปได้และความไม่สมเหตุสมผล!

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องนี้เช่นกัน โดย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวเตือนว่า การทำนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมแบบเหวี่ยงแห เพราะแม้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ระยะยาวแล้วสร้างผลข้างเคียงและผลกระทบมหาศาล การทำนโยบายลักษณะนี้จึงต้องดูว่าได้คุ้มเสียหรือไม่ ซึ่งถ้าดูเศรษฐกิจไทยเวลานี้ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องออกนโยบายกระตุ้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยว

เราอยากชวนผู้อ่านทบทวนความทรงจำกันเล็กน้อยถึงประเทศที่โหมประชานิยมแบบสุดโต่ง จนท้ายที่สุดไม่มีใครจบสวยซักราย เริ่มจาก “อาร์เจนตินา” ซึ่งเป็นบทเรียนอย่างดีให้หลายๆ ประเทศ เพราะอดีตเคยเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจติด 1 ใน 10 ประเทศร่ำรวย แต่สุดท้ายพังครืนจากวิกฤติเงินเฟ้อขั้นรุนแรง และหนี้สาธารณะที่ล้นทะลัก ถัดมา คือ “กรีซ” ที่ดำเนินนโยบายประชานิยมแบบเต็มขั้น สุดท้ายก็เจอกับวิกฤติทางการเงินอย่างรุนแรง จนต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในท้ายที่สุด

อีกประเทศที่เป็นบทเรียนให้กับเราได้อย่างดี คือ “เวเนซุเอลา” อดีตเคยร่ำรวยจากการค้าขายน้ำมัน แต่เมื่อรัฐบาลต้องการเอาใจประชาชน จัดตั้งรัฐสวัสดิการ นำงบประมาณจำนวนมากไปทุ่มกับประชานิยมเพื่อหวังคะแนนเสียงทางการเมือง ทั้งการอุ้มราคาน้ำมัน ลดค่าไฟฟ้า ท้ายสุดก็จบไม่สวย เผชิญกับหายนะเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ไม่มีเงินมาดูแลประชาชน จนต้องเลือกใช้วิธีพิมพ์เงินขึ้นมาเองแบบไม่อั้น และก็ลุกลามไปสู่วิกฤติเงินเฟ้อกลายเป็นแบบเรียนชั้นดีให้กับนักเศรษฐศาสตร์

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย ถ้ามองจากนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ต้องบอกว่า น่าเป็นห่วงไม่น้อย แม้หลายพรรคจะชี้ให้เห็นถึงช่องทางการหาเงินเพื่อมาทำนโยบายตามที่หาเสียงไว้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เราควรเก็บ “กระสุน” ไว้รับมือกับวิกฤติการเงินโลกครั้งใหม่ ซึ่งเวลานี้เริ่มเคาะประตูหน้าบ้านแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติหนี้สาธารณะของสหรัฐที่สูงจนจะทะลุเพดาน 130% วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกที่ข้อมูลของ บลูมเบิร์ก ระบุว่า มีหนี้กว่า 1.75 แสนล้านดอลลาร์ ที่กำลังเผชิญปัญหาในขณะนี้ และวิกฤติยอดคงค้างบัตรเครดิตของชาวอเมริกันที่พุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์มาอยู่ที่ 9.86 แสนล้านดอลลาร์ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐเกิดปัญหา ลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เราก็คงหนีไม่พ้นด้วยเช่นกัน ...เวลานี้คงต้องถามดังๆ ว่า เรามีกระสุนพอรับมือกับวิกฤติเหล่านี้หรือไม่!