พาณิชย์ ประกาศหลักเกณฑ์ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ผลไม้แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาด

พาณิชย์ ประกาศหลักเกณฑ์ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ผลไม้แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาด

กรมการค้าภายในประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ขอรับการสนับสนุนค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 3%เพื่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินแล้ว กำหนดชดเชยไม่เกิน 6 เดือน กรอบวงเงินกู้ไม่เกินรายละ 100 ล้านบาท คลอบคลุมผลไม้ 8 ชนิด เริ่มยื่นได้ตั้งแต่บัดนี้ถึง 12 พ.ค.

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะทำงานขับเคลื่อนกิจกรรมเสริมสภาพคล่องการรับซื้อผลไม้ ภายใต้โครงการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการขอรับการสนับสนุนค่าชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ในอัตราไม่เกิน 3% ให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้าผลไม้ ที่ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อมารับซื้อผลไม้จากเกษตรกร โดยมีระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 6 เดือน มีกรอบวงเงินกู้ยืมสูงสุดรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท

สำหรับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการค้าผลไม้ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จะต้องจดทะเบียนถูกต้องกับหน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ กรณีสหกรณ์การเกษตรและกลุ่มเกษตรกรที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร และผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งจะต้องมีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมรับซื้อผลไม้ ทั้งนี้ กรณีของผู้ประกอบการ จะต้องมีผู้ถือหุ้นและกรรมการเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด

พาณิชย์ ประกาศหลักเกณฑ์ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ผลไม้แก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาด

โดยผู้ที่สนใจ สามารถยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐได้ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 12 พ.ค.2566 จากนั้นสถาบันการเงินจะพิจารณาและตรวจสอบ ก่อนเสนอวงเงินที่อนุมัติกลับมายังคณะทำงานฯ ภายในวันที่ 26 พ.ค.2566 ซึ่งคณะทำงานฯ จะพิจารณาก่อนประกาศรายชื่อผู้ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ และผู้กู้สามารถที่จะเบิกเงินกู้ได้ เมื่อถึงเวลาชำระคืนเงิน ให้ผู้กู้ยื่นขอรับชดเชยอัตราดอกเบี้ยกับคณะทำงานฯ ตั้งแต่ 15 ส.ค.-15 ธ.ค.2566 และจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ไม่เกิน 3%

 ทั้งนี้ วงเงินสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ ที่จะได้รับการชดเชยดอกเบี้ย ต้องมีการเบิกใช้สินเชื่อจากวงเงินดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมรับซื้อผลไม้ฤดูการผลิตปี 2566 จากเกษตรกร ครอบคลุมผลไม้ 8 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง มะม่วง และสับปะรด ในช่วงระหว่างวันที่ 1 มี.ค.2566 ถึง 31 ต.ค. 2566

“กรมฯ มั่นใจว่ามาตรการช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการค้าผลไม้ ด้วยการช่วยเหลืออัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3% นี้ จะช่วยเสริมสภาพคล่อง และทำให้มีเงินทุนไปใช้ในการรับซื้อผลไม้จากเกษตรกร และช่วยแก้ปัญหาผลผลิตออกกระจุกตัว และล้นตลาดลงได้ รวมทั้งจะช่วยผลักดันให้ราคาผลไม้ ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย จากการที่มีผู้ซื้อเข้าไปแย่งซื้อผลผลิต”นายวัฒนศักย์กล่าว